สบส. แนะครอบครัวสร้างภูมิคุ้มกันด้วยหลัก 3 ว 1 ป ป้องกันปัญหาด้านเพศในวัยรุ่น

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แนะครอบครัวสร้างภูมิคุ้มกันด้วย 3 ว เวลา เว้าวอน ว่ากล่าว และ 1 ป ปฏิสัมพันธ์ เป็นเกราะป้องกันปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ด้านเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ในปี 2559 กรมอนามัย พบว่า โดยประมาณ 1 ใน 4 ของนักเรียนชาย และ 1 ใน 5 ของนักเรียนหญิง ระดับชั้น ม.5 เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในนักเรียนระดับ ปวช. 2 ประมาณ     ร้อยละ 40 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว กลุ่มนักเรียนชายและหญิง ทั้ง ม.5 และปวช. 2 มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ประมาณร้อยละ 70 สำหรับการคลอดของแม่คลอดบุตรที่มีอายุ 10-19 ปี คิดเป็น     ร้อยละ 14.2 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว พบว่าการมีเพศสัมพันธ์ในก่อนวันอันควร ส่งผลให้วัยรุ่นเสียการเรียน     เกิดปัญหาการขาดเรียน บางคนต้องลาออกจากโรงเรียน และมีปัญหาความเสี่ยงในการแท้งลูก ไม่พร้อมที่จะดูแลบุตรที่เกิดขึ้นมา อาจนำเด็กไปทิ้งให้เป็นปัญหาสังคม และอาจเกิดการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ เป็นต้น

นายชาญยุทธ  พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา ชี้แนะว่าครอบครัวควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวัยรุ่น ด้วยหลัก 3 ว 1 ป เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ดังนี้ 1) ว  เวลา พ่อแม่ต้องมี quality time หรือเวลาคุณภาพให้ลูกมากๆ 2) ว  เว้าวอน พ่อแม่พูดคุยเรื่องเพศกับลูกให้เหมือนเป็นการพูดคุยปกติ  3) ว ว่ากล่าว ตักเตือน เพื่อให้ลูกรู้ในสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ และ 4) ป ปฏิสัมพันธ์ ไม่ควรคบเพื่อนที่มองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องท้าทาย โดยครอบครัวต้องหมั่นพูดคุย สังเกต และเข้าใจวัยรุ่น โดยไม่ใช่ลักษณะของการห้ามปราม ให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเกราะป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์คลังความรู้ด้านสุขภาพ (healthydee.moph.go.th) เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ