ผู้ว่าฯ กำชับทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อม และแจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง หลัง สทนช. ประกาศจะปล่อยน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม/วิ

ผู้ว่าฯ กำชับทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อม และแจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง หลัง สทนช. ประกาศจะปล่อยน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม/วิ คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 40 – 50 ซม.

วันที่ 1 ก.ย.65 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากที่เมื่อวานนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนจะปล่อยน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม/วิ ในวันที่ 4 กันยายน และในวันที่ 1 กันยายน ปล่อยมาที่ 1,800 ลบ.ม/วิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเตรียมการป้องกันมาตั้งแต่ระบาย 1,000-1,200-1,500 ลบ.ม/วิ มีการระดมเครื่องไม้เครื่องมือ และแจ้งเตือนประชาชนมาเป็นระยะๆ มีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบตอนนี้ 1 หมื่นกว่าหลังคาเรียน ถ้าปล่อยน้ำมา 2,000 ลบ.ม/วิ จะมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ท่านพลเอก ประวิตร วงสุวรรณ์ ได้โทรมากำชับให้ช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด โดยเราได้ระดมทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือของทุกหน่วยงาน ตอนนี้เราระดมเครื่องสูบน้ำลงไปในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ รวม 50 กว่าเครื่อง เร่งสูบน้ำออกคิดเป็นปริมาณ 5 ล้านกว่าคิว เพื่อช่วยเหลือชาวนาได้เกี่ยวข้าว 1 หมื่นกว่าไร่ หลังจากนั้น จะคืนพื้นที่รับน้ำให้ชลประทานไปบริหารจัดการน้ำตามข้อตกลงภายในวันที่ 15 กันยายนนี้

ทั้งนี้ การที่ชลประทานแจ้งปล่อยน้ำที่ 2,000 ลบ.ม/วิ จะทำให้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร จึงได้สั่งการผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ แจ้งเตือนชาวบ้านริมน้ำยกของขึ้นสูงให้พ้นระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น และการคาดว่ามรสุมที่จะเข้ามาในวันที่ 3 – 8 กันยายน จะมีฝนตกหนัก ซึ่งได้แจ้งเตือนให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชาชน ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง จำนวน 9 อำเภอ 90 ตำบล 440 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 14,973 ครัวเรือน รวมพื้นที่การเกษตร 7,801.75 ไร่ และ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น 7 ไร่

ด้าน นางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอเสนา กล่าวว่า ในส่วนของอำเภอเสนา มีประชาชนได้รับผลกระทบ รวม 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 2,992 ครัวเรือน รวมพื้นที่การเกษตร 48 ไร่ เบื้องต้น ได้บูรณาการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างต่อเนื่อง และขนของขึ้นที่สูง วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นบ้านริมแม่น้ำ ใต้ถุนสูง ทุกบ้านจะมีเรือไว้ใช้ ถนนหนทางยังคงสัญจรไป-มาได้สะดวก

นอกจากนี้ ยังให้ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ช่วยกันดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เรือ และได้สนับสนุนถุงยังชีพจากหน่วยงานต่างๆ นำไปช่วยเหลือมอบให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังแจ้งเตือน และอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชม. รวมทั้งประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสายและหอกระจายข่าว โดยประชาชนได้ให้ความร่วมมือและติดตามข่าวสารเป็นอย่างดี