สดร. ดึง 20 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25 – 27 สิงหาคม 2565 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ดึงหน่วยงานรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิจัยชั้นนำของไทย กว่า 20 หน่วยงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงต้นแบบ และบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน หวังพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร ต่อยอดสู่นวัตกรรมเพื่อการพึ่งพาตนเองและเชิงพาณิชย์

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ได้ถูกริเริ่มตั้งแต่ปี 2563 จากการผนึกกำลังของ 3 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้าของประเทศ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง เปิดโอกาสให้วิศวกร ช่างเทคนิค นักวิจัย ที่มีประสบการณ์จากหลายหน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ทั้งการออกแบบ และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงเชิงพาณิชย์ในอนาคต

ผลการดำเนินงานจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมหลากหลายชิ้นงาน ที่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนไทย อาทิ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด Scanning Electron Microscope การพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มบาง การพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์รองรับเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์หลากหลายประเภท เช่น แขนเทียมกล ข้อเข่าเทียมอัจฉริยะ เครื่องควบคุมออกซิเจนแบบอัตราการไหลสูง ฯลฯ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่เพียงเกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลักเท่านั่้น ยังขยายผลต่อยอดความร่วมมือไปยังหน่วยงานวิทยาศาสตร์ และสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่ง อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ผมรู้สึกมีความยินดีที่ได้มามอบนโยบาย และกล่าวปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 4  ในครั้งนี้

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงาน นำเอาเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันออกแบบ และสร้างผลงานหรือนวัตกรรม ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นตัวอย่างที่ดี และน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ในประเทศไทยไม่เคยมีใครทำมาก่อน และมีความยากเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสร้างขึ้นเอง  เป็นการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี และวิศวกรรมของคนไทย เพื่อการพึ่งพาตนเองในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะขยายผลไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมในสาขาอื่นๆ มากยิ่งขึ้น เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ความมั่นคง เป็นต้น

เพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นคำตอบในทุกๆ คำถาม ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศบนฐานนวัตกรรมที่อาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยเพิ่มศักยภาพภาคการผลิต และบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ร่วมแรงร่วมใจปรับเปลี่ยนประเทศจากผู้ซื้อเป็นผู้สร้าง ช่วยกันนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้โดยเร็วที่สุด

สำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2565 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 267 คน จาก 20 หน่วยงาน และมีนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมงานอีกจำนวน 15 คน ในการประชุมมีการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง อันเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีของหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 19 ผลงาน

ชมภาพบรรยากาศเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/AEW4-Gallery