ลดปวดประจำเดือน ด้วยภูมิปัญญาไทย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาการปวดประจำเดือน สร้างความกังวลใจ ให้กับผู้หญิงอย่างเรา ๆ อยู่ไม่น้อย พอครบรอบเดือน เวียนมาบรรจบ เป็นต้องหนักใจทุกที ผู้หญิงคนไหนโชคดีไม่ต้องประสบกับปัญหานี้ก็โล่งใจไป แต่ถ้าผู้หญิงคนไหนโชคร้าย ปัญหานี้คงต้องติดตัวไปอีกนานแสนนาน

ในการแพทย์แผนไทย การมีประจำเดือนนั้น ถือเป็นการขับของเสียที่คั่งค้างออกจากร่างกาย ดังนั้นจึงต้องมีการไหลเวียนที่ดีไม่คั่งค้าง หรือสะสมไว้ มิฉะนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้หญิงได้ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา การแพทย์แผนไทยจึงให้ความสำคัญกับสุขภาพสตรี เน้นการรักษาสุขภาพของผู้หญิง ด้วยการรักษาที่ระบบประจำเดือนให้เป็นปกติ เพราะเชื่อว่าเป็นหัวใจหลักของการดูแลสุขภาพสตรีได้ทั้งกายและใจ และความเป็นปกติของระบบประจำเดือนนั้นขึ้นอยู่กับความสมดุลของปิตตะ วาตะ และเสมหะหรือที่เรียกว่า ตรีโทษ นั่นเอง ความผิดปกติของระบบประจำเดือนมักจะเริ่มจากวาตะ หรือลม โดยอาการที่พบบ่อย ๆ คือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีอาการปวดประจำเดือน ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว บางรายอาจมีอาการท้องผูก เมื่อวาตะกำเริบจึงไปผลักดันให้ร่างกายเกิดความร้อน ปิตตะ หรือไฟในร่างกายจึงกำเริบตาม อาจทำให้บางรายมีอาการไข้ จึงไม่แปลกที่คนโบราณจะพูดกันติดปากกันว่า เป็นไข้ทับระดู และเมื่อใดที่มีอาการตกขาวมีกลิ่น มีสี ร่วมกับอาการไม่สบายระหว่างมีประจำเดือนที่เป็นเรื้อรัง ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน รวมทั้งอาจมีก้อนหรือฝีในมดลูก นั่นหมายถึงการลุกลามไปถึงระบบธาตุน้ำและดิน ซึ่งจะยิ่งทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น

ดังนั้นหากเรารู้จักตัดไฟแต่ต้นลม ก็ต้องดูแลธาตุลมของเราให้เป็นปกติ ตั้งแต่การรับประทานอาหารที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอดูแลสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อารมณ์ต่าง ๆให้สม่ำเสมอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ดูแลระบบการขับถ่ายอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป พร้อม ๆ ไปกับการดูแลตนเองโดยการบำรุงร่างกายด้วยอาหารและสมุนไพรเพื่อให้เราสามารถรับมือกับปัญหาการปวดประจำเดือนได้อย่างเหมาะสมในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้มีการจัดการกับอาการปวดประจำเดือน โดยมีการใช้ยาแก้ปวด กลุ่ม NSAID (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งถือเป็นเพียงการบรรเทาอาการ และจำเป็นต้องใช้ทุกครั้งที่มีอาการปวดอาจพบอาการข้างเคียง เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะมองหาทางเลือกอื่น สมุนไพรไทยจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการถูกนำมาใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ซึ่งมีตำรับยาที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเรื่องประจำเดือน ที่เราอาจเคยได้ยินคือ “ประสะไพล” เป็นตำรับยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร จัดเป็นหนึ่งในรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ สั่งจ่ายได้ และได้รับการบรรจุอยู่ในประกาศยาสามัญประจำบ้าน เพื่อให้เป็นยาที่ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้เองอีกด้วย ตามหลักการแพทย์แผนไทย ประสะไพล ประกอบด้วยตัวยารสร้อนฝาด เผ็ดร้อน และ ร้อนปร่า ทำให้ทั้งตำรับออกฤทธิ์ไปทางร้อน โดยมีตัวยารสฝาดช่วยสมาน คุมฤทธิ์ กำกับการทำงานของธาตุลม ทำให้มีการเคลื่อนไหวของธาตุลมดีขึ้น พอเหมาะและสมดุล สอดคล้องกับการวิจัยของไพลที่พบว่าทำให้กล้ามเนื้อเรียบลดการเกร็งตัว โดยการลดการสร้างสาร Prostaglandins (พรอสตาแกลนดิน)ซึ่งเป็นสารสร้างความปวด นอกจากนี้ยาตำรับยังส่งผลให้ความรอ้ นของเลือดเพิ่มขึ้น เลือดเหลวขึ้น จึงเกิดการไหลเวียน ไม่คั่งค้าง หรือสะสม และเนื่องด้วยยานี้เป็นยาฤทธิ์ร้อน ซึ่งจำเป็นจะต้องระมัดระวัง

โดยเฉพาะในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้,ห้ามรับประทานในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้มีการขับระดูออกมามากขึ้น และควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ หรือไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้นอกจากยาตำรับที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการใช้ตำรับยาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน หมอพื้นบ้าน ที่มีการสืบทอดต่อกันมาและนำมาใช้รักษาอาการปวดประจำเดือนได้เป็นอย่างดี

  • นำใบแก่ของหูกวาง 5-10 ใบต่อน้ำ 1 ลิตร มาต้มดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1-2 ครั้ง แนะนำให้ดื่มก่อนรอบเดือนจะมา 2-3 วัน
  • ต้นสดของผักคราดหัวแหวนผสมกับน้ำมะนาว ทำเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหาร
  • น้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะพูน ผสมเหล้าขาว 1-3 ช้อนชา
  • นำขี้เหล็กทั้งต้น 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มเดือดประมาณ 15 นาที รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น
  • ขิงคั้นเอาแต่น้ำประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 30 กรัมอุ่นให้ร้อนก่อนนำมารับประทาน

 

ทั้งนี้ผู้หญิงอย่างเรา ๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติขณะที่มีรอบเดือน โดยสิ่งที่ควรงดปฏิบัติ เช่น การอาบน้ำเย็น การสระผมด้วยน้ำเย็น การดื่มน้ำเย็น การรับประทานอาหารเย็น เช่น ฟักแฟงแตงโม น้ำมะพร้าว ไอศกรีม น้ำแข็ง เป็นต้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่มีอาการปวด หลีกเลี่ยงภาวะเครียดทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รู้จักปล่อยวาง โดยการฝึกจิตและสมาธิ การออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้ลมเกิดการเคลื่อนไหว เพิ่มการไหลเวียน เช่นการฝึกโยคะ

 

ผู้หญิงเป็นเพศที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้น พร้อมที่จะแบกรับภาระอันหนักหน่วงของการเป็นแม่ รวมไปถึงจะต้องอดทนต่อสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกเมื่อ ดังนั้นการดูแลสุขภาพหญิงไทยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยจึงถือเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาที่แนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรมชุมชนที่สั่งสมส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้เพื่อให้หญิงไทยมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิต พร้อมรับมือกับทุกปัญหาที่ต้องเผชิญ

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร 037-211289 Facebook: สมุนไพรอภัยภูเบศร; www.abhaiherb.com

สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่มีอาการปวด หลีกเลี่ยงภาวะเครียด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รู้จักปล่อยวาง โดยการฝึกจิตและสมาธิ การออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้ลมเกิดการเคลื่อนไหว เพิ่มการไหลเวียน