“CIBA-มธบ.” เปิดตัว นักศึกษา Capstone ต้นแบบ Startup University สู่ความสำเร็จแบบมืออาชีพ

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู  รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า  วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ( College of Innovative Business and Accountancy: CIBA )  ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้นักศึกษาภายใต้โครงการ Capstone Project เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นให้สามารถแก้ไขโจทย์จริงจากความต้องการของภาคธุรกิจ รวมถึงฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมบนพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันเพื่อให้เตรียมพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานจริง  เนื่องจากทักษะด้านผู้ประกอบการถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพในโลกแห่งอนาคต เพราะไม่เพียงแต่นักศึกษาสามารถทำงานภายในองค์กรได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้อีกด้วย

ล่าสุด ทาง CIBA ได้จัดการแข่งขัน Final Pitching Capstone Business Project โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งหมด 3 ทีม  ประกอบด้วย ทีม Charm Gems คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท CREATIVE AWARD  ทีม A3 คว้ารางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD และทีมจัสมิน   คว้ารางวัลประเภท INNOVATION AWARD    โดยแต่ละทีมได้เรียนรู้และพัฒนาโครงงานร่วมกัน เป็นการฝึกเสมือนทำงานในองค์กรจริง สามารถสร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ปัญหาได้ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้ฝึกการบริหารความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น (Conflict Management)  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพยูนิเวิอร์ซิตี้

นางสาวกาญจนา ช้างป่าดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล ตัวแทนทีม Charm Gems ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ CREATIVE AWARD กล่าวว่า ได้รับโจทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกปัด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่าตลาดอิ่มตัว ลูกค้าแก่ขึ้นไปตามแบรนด์และไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่สนใจ จึงดีไซน์รูปแบบใหม่ เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานแทนที่จะเป็นลูกปัดก็เปลี่ยนมาเป็นหินสีผสมผสานความเชื่อเรื่องหินมงคลบวกกับนำหินมาร้อยเป็นสายนาฬิกา เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นเครื่องประดับที่ใช้ดูเวลาได้ด้วย ดีไซด์สวยงาม เป็นงานแฮนด์เมด ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์เข้าถึงง่ายสะดวกกับลูกค้า

“การทำงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์มากมาย เพราะว่าเราทำงานกับเพื่อนที่ไม่ได้สนิทไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลยก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เรื่องของการทำธุรกิจ เราเรียนมาก็จริงแต่ไม่เคยทำ สำคัญจริงๆ เลย คือ ต้องความต้องการของลูกค้า และเราทำอะไรตอบโจทย์เขาได้บ้าง มันจะทำให้เราประสบความสำเร็จ”

นางสาวกาญจนา กล่าวในตอนท้ายว่า ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเอง จนปัจจุบันมียอดขายมากขึ้น เพียงพอต่อค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว คิดว่าหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว คงนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดให้กับธุรกิจของตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น

นางสาวนิภาพร  กันยา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาการโรงแรม ตัวแทนทีม จัสมิน   กล่าวว่า ทางทีมได้รับรางวัล INNOVATION AWARD  จากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ลูกประคบไฟฟ้าสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่จากเดิมใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไม่ใช้ซ้ำ ตามข้อจำกัดของสมุนไพร เลยคิดค้นกันว่า ถ้าเราใช้ลูกประคบไฟฟ้าแบบชาร์ตไฟได้ เพียงแค่เปลี่ยนจากลูกประคบเป็นแผ่นสมุนไพร จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง จากปกติลูกประคบใช้งานราคาอยู่ที่ 180-200 บาทต่อลูกต่อการใช้งาน  1 ครั้ง แต่พอเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสมุนไพรตามประเภทและชนิดสมุนไพร ช่วยทำให้ต้นทุนมาอยู่ที่ราคา 40-50 บาท แต่อาจจะเสียค่าเครื่องประคบครั้งเดียวแต่ใช้งานได้นาน

ทั้งนี้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมา ทางทีมได้ระดมความคิดแชร์ไอเดียกันหนักหน่วงพอสมควรกว่าจะได้รับการพิจารณาโครงการให้ผ่านเพราะต้องหาความแตกต่างของสินค้าและตรงกับความต้องการตลาดมากที่สุด พอผ่านแล้วต้องมาเจอกับด่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีที่ปรึกษาใกล้ตัวที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งเรื่องนวดเพื่อสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสมุนไพร

“จากเดิมที่ยังค้นหาตัวเอง ยังไม่รู้ว่า มีความสามารถด้านไหนเพราะเวลาทำอะไรตามคำสั่งคนอื่นก็สามารถทำได้หมด แต่ต่อมา พอเป็นผู้นำทีมก็รู้สึกว่า ตัวเองก็สามารถคิดเองได้แบบไม่ต้องมีใครสั่ง นอกจากนี้การเรียนรู้ในโครงการยังทำให้รู้ว่า เมื่อเรียนจบไปแล้วจะทำให้ได้เจอคนในหลายแบบ หลายความคิด ทั้งคนที่ได้ดั่งใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ลงเอยได้ด้วยดีเพราะเราปรับตัวเข้าหากัน ปรับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานออกมาได้สำเร็จ จึงอยากชวนน้องๆเข้ามาลองเปิดใจกับ Capstone   เปิดใจกับคำว่า Startup  เริ่มคิด เริ่มลงมือทำแล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวและไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

นางสาวเจนจิรา แสงคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล (CIBA)  ทีม A3 ได้รับรางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรแบบเดิมๆให้เป็นลูกประคบตัวการ์ตูนที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมจากดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จุดเริ่มต้นของทุกคนคือ มีที่มาจากต่างคณะต่างสาขาแล้วมาร่วมทำโปรเจคกัน  ช่วงแรกๆ มีการกลัวการเข้าหากันบ้าง แต่ก็แก้ปัญหาร่วมกัน พยายามฟังกันให้มากกว่าพูด ใครมีไอเดียดีๆ ก็จะช่วยกันนำเสนอ ทุกคนในทีมได้ข้อคิดร่วมกันว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่คนอื่นทำ แต่เป็นงานของเราที่เราต้องทำกันเป็นทีมให้สำเร็จ คิดแบบนี้แล้วทำให้ทุกคนมีกำลังใจกันมาก และมีความมั่นใจเวลาขึ้น Pitching บนเวที  สำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อย่ากลัวสิ่งที่จะลอง เพราะถ้าได้ลองแล้วนอกจากมีความท้าทาย มีความสนุกและยังได้เสริมศักยภาพให้กับตัวเองได้ด้วย.//