สวธ.จัดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑๒” “พลังวัฒนธรรมในยุคสังคมดิจิทัล”

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงานประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑๒” “พลังวัฒนธรรมในยุคสังคมดิจิทัลเผยแพร่งานวิจัยชูพลังทางวัฒนธรรม สนับสนุนการวิจัยและนำผลการวิจัยไปพัฒนาและต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้วัฒนธรรมของชาติมีความยั่งยืนได้รับความนิยมในวงกว้าง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๔๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานกล่าวว่า การประชุมวิชาการในปีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยและท้าทายงานวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีหลายประเทศที่ก้าวข้ามความท้าทายนั้น และประสบความสำเร็จในการนำวัฒนธรรมมาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศโดยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าส่งออกในตลาดโลก ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกหันมาดูซีรีส ฟังเพลง ทานอาหาร และแต่งตัวตามอย่างแฟชั่นเกาหลี และญี่ปุ่น ประเทศไทยสมบูรณ์ด้วยมรดกวัฒนธรรมหลากหลายด้าน จะมีวิธีการใดที่จะใช้ประยุกต์และสร้างสรรค์ให้มรดกวัฒนธรรมของไทยได้รับความนิยมในวงกว้าง แนวทางหนึ่ง คือต้องใช้การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับนำมาสร้างสรรค์มรดกของไทยให้ได้รับความนิยมอยู่ในใจคนทั่วไป

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเร่งผลักดัน “Soft Power” ไทย โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน ๑๕ สาขา คือ

๑) งานฝีมือและหัตถกรรม

๒) ดนตรี

๓) ศิลปะการแสดง

๔) ทัศนศิลป์

๕) ภาพยนตร์

๖) การแพร่ภาพและกระจายเสียง

๗) การพิมพ์

๘) ซอฟต์แวร์

๙) การโฆษณา

๑๐) การออกแบบ

๑๑) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม

๑๒) แฟชั่น

๑๓) อาหารไทย

๑๔) การแพทย์แผนไทย

๑๕) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

นอกจากนั้น ยังผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ๕ F ได้แก่  Food (อาหาร) Film (ภาพยนตร์และ วีดิทัศน์) Fashion (ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น) Fighting (ศิลปะการต่อสู้-มวยไทย) และ Festival  (การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่ง อุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-๑๙ ที่สำคัญของไทย

“กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดฯ กำลังดำเนินการขับเคลื่อน Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น แฟชั่นและการออกแบบ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาหารไทย ดนตรี ศิลปะการแสดง งานศิลปหัตถกรรม ฯลฯ และบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งทั่วประเทศ เช่น โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) การท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์ของโครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างอย่างยั่งยืน (บวร On Tour) เป็นต้น การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดมรดกวัฒนธรรมของไทยด้านต่าง ๆ ให้คนทั่วโลกนิยมชื่นชม” นายอิทธพล กล่าว

ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมครั้งนี้จัดขึ้นด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้จากผลการศึกษาวิจัยทางวัฒนธรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และเพื่อนำเสนอสาระความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจของสังคม ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาวิจัยระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดในด้านต่าง ๆ

การประชุมฯ “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑๒” นี้ ประกอบด้วย การปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและนำเสนอผลงานวิจัยทางวัฒนธรรม อาทิ การบรรยายพิเศษ เรื่อง พลวัตพลังวัฒนธรรมในสื่อสมัยใหม่ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ต่อด้วย การอภิปรายพิเศษ เรื่อง การประยุกต์โนรา พลังสร้างสรรค์จากแดนใต้สู่สากล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติพุทธศักราช ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดง และนางสุมณฑา ฆังคะรัตน์ จากนั้นเป็น การแสดงทางวัฒนธรรมชุด “โนราบิก” โดย กลุ่มออกกำลังกายหัวหาด วัดท่าแค จังหวัดพัทลุง

และต่อด้วยการนำเสนองานวิจัยใน ๔ หัวเรื่อง เริ่มด้วยการอภิปรายภายใต้หัวเรื่อง “พลังโภชนศิลป์” อารยโภชนาภูมิปัญญากลีบลำดวนปราศจากกลูเตน แนวทางส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อความเท่าเทียม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงษ์ สุวีโร  ต่อด้วยการอภิปรายภายใต้หัวเรื่อง “พลังหัตถศิลป์” งานวิจัยเรื่อง “ว่าวควาย” สายลมสร้างสรรค์พลังหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมเศรษฐกิจฐานราก โดย  ดร.เจตน์สฤษฎิ์ สังขพันธ์ และเรื่อง พลังการพัฒนาต่อยอดหัตถศิลป์ เบญจรงค์เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ออกแบบสร้างสรรค์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฤณัต นัจนฤตย์

ตามด้วยการอภิปรายภายใต้หัวเรื่อง “พลังสังคีตศิลป์” งานวิจัยเรื่อง ขับลื้อ : พลังแห่งการขับเคลื่อนและการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมในสังคมยุคดิจิทัล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์องอาจ อินทนิเวศ และปิดท้ายด้วยการอภิปรายภายใต้หัวเรื่อง “พลังนาฏศิลป์” ประกอบด้วยงานวิจัยเรื่อง การแสดงเพลงโคราช : การปรับตัวตามพลวัตของสังคมในยุคดิจิทัล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรขา อินทรกำแหง และงานวิจัย “มวยไทย” การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย “มวยไทย” การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเสริมความรู้เกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยที่นำเสนอบนเวทีด้วย โดยการประชุมในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมทั้งแบบ on site ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในจำนวนจำกัดโดยให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และชมแบบ on line โดยรับชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ทางเพจของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำให้สาธารณชนในวงกว้างสามารถร่วมการประชุมได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ทาง http://research.culture.go.th/index.php/download.html ติดตามข่าวสารได้ที่ www.culture.go.th หรือเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม