อุบลฯ จัดโครงการเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ปี 2565 พช. ร่วมติวเข้ม! เป็นวิทยากรหลัก

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2565 โดยมี นายสำเนียง สิมมาวัน ท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ หัวหน้าสำนักงานปลัด และนักพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 500 ราย เข้าร่วมพิธีเปิดและกิจกรรมโครงการฯ ณ โรงแรมเนวาด้า คอนเวนชั่น โฮเทล อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ร่วมโครงการฯ พร้อมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศาสตร์พระราชา กับการพัฒนาที่ยั่งยืน”, “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง”, การแปลงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน”, การถอดบทเรียนผ่านสื่อ “วิถีภูมิปัญญาไทยกับการพึ่งตนเองในภาวะวิกฤติ” และ “การจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” รวมถึง เผยแพร่คลิปประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี ด้วย

จังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี จัดทำโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2565 โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ในการดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเพิ่มทักษะการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” และการสร้าง พัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง”

โดยมีวัตถุประสงค์คือ

1)เพื่อให้บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” และการสร้างพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปขยายผลสู่ประชาชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

2)เพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานตามภารกิจภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โดยใช้กลไกศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยขับเคลื่อนและดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนให้การช่วยเหลือสงเคราะห์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

3)เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการติดต่อปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี / งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี : ภาพข่าวและรายงาน