“SACICT จิตอาสา” การให้ที่ยั่งยืน…ผ่านมุมมองผู้รับกลุ่มชาติพันธุ์

อาเบอ เยเบีย ชาวเขากลุ่มอาข่าลอมิ หมู่16 ต.แม่สรวย จ.เชียงราย กล่าวด้วยรอยยิ้ม ถึงโครงการ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” ว่า “ขอบคุณชาว SACICT และครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ที่ให้โอกาสชนเผ่าอย่างพวกเรา เข้ามาหาถึงพื้นที่ วันนี้ได้มาเรียนรู้การปักผ้าแบบลูกโซ่ จริงๆแล้วผู้หญิงชาวอาข่าเย็บปักถักร้อยเป็นแทบทุกคน ทุกคนต้องทำเครื่องแต่งกายประจำเผ่าไว่สวมใส่เองกันอยู่แล้ว ซึ่งใช้เทคนิคมากมายหลายแบบที่สอนๆต่อๆกันมา ได้เห็นแบบผ้าซิ่นที่ครูนำมาให้ดูว่า ต่อไปจะให้พวกเราช่วยปัก โดยครูจะเป็นผู้ออกต้นทุนวัตถุดิบให้ก่อน พวกเราลงแรงอย่างเดียว ลวดลายไม่ยาก สามารถทำได้แน่นอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้มาจุนเจือครอบครัว จากการทำการเกษตรเล็กๆน้อยๆ ให้มีกินมีใช้มากขึ้น”

ดอกแก้ว ณ คีรี ชาวเขาลาหู่เหลือง มาจากหมู่ 9 ต.แม่สรวย จ.เชียงรายบอกว่า “ตอนนี้ได้รวมกลุ่มผู้หญิงกันได้ 16 คนมาร่วมโครงการนี้ ก่อนหน้าก็ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ปลูกพืชพื้นถิ่น และทำสินค้าเสื้อผ้ากระเป๋า มีทั้งชุดทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีเอกลักษณ์ลาหู่ ทำแล้วขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าสามารถมีคนเข้ามาช่วยสอนว่า ตลาดต้องการอะไร แนะนำเรื่องการออกแบบตัดเย็บและแปรรูป ซึ่งหาก SACICT เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดให้ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชนหัตถกรรมได้ในอนาคต ซึ่งจะให้ความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ค่ะ”

การให้ที่ยั่งยืน คือการให้ชุมชนสามารถมีอาชีพ มีรายได้ในระยะยาว ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่งคง กลุ่มชาติพันธุ์สามารถยืนด้วยตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงเป็นการให้ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างภาคภูมิใจ