วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ที่ ห้องประชุมมหาธาตุ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา พ.อ.อำนาจ วชิรศักดิ์โสภานะ รองผู้บังคับการ กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ฯ นางปวีณา ทองสกุลพันธ์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อหารือเตรียมการรับมือมวลน้ำ หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เร่งระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,500 – 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที
จากที่กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องขอปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ในอัตรา 1,400 – 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น มีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำประกอบด้วย คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ระดับน้ำบริเวณพื้นที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.20 เมตร ในช่วงวันที่ 20 – 23 สิงหาคม 2565 และจะปรับเพิ่มการะบายปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 เป็น 1,500 – 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.40 – 0.80 เมตร ในช่วงวันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2565 โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์รับมวลน้ำดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยง และบูรณาการมาตรการ แนวทาง แผนงาน ในการปฏิบัติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกัน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมาราม และพระตำหนักสิริยาลัย ซึ่งเป็นโบราณสถานและพระราชฐานสำคัญของจังหวัด ในการเตรียมความพร้อมรับมวลน้ำดังกล่าว อีกด้วย
ด้าน นายประทีป การมิตรี กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญทุกภาคภาคส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมปรึกษาหารือและรายงานสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ สำหรับภาพรวมของจังหวัด ได้ผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเสนา บางไทร บางบาล บางปะหันและ อำเภอผักไห่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ได้รับผลกระทบ 5,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งการเตรียมการในส่วนของท้องถิ่น ในเตรียมเครื่องไม้ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชน ได้รับผลกระทบมากและสามารถช่วยเหลือพี่น้องได้อย่างทันท่วงที โดยเราได้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนที่อยู่ในย่านธุรกิจริมน้ำให้ยกของขึ้นที่สูง ในส่วนของ ส่วนราชการในพื้นที่ เมื่อได้รับแจ้งจากพี่น้องประชาชน ได้รับผลกระทบ ให้ลงพื้นที่ไปดูแล ให้กำลังใจทันที และสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนตรงตามข้อเท็จจริงเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทันท่วงที และยังได้รับการสนับสนุน จาก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปภ.และชลประทาน ในการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันการเสียหาย และที่สำคัญที่สุดคือเขตพระราชฐาน โดยได้รับการสนับสนุนจากทหารที่มาช่วยดูแลในการยก พนังกั้นน้ำและกรอกกระสอบทรายในการป้องกันไม่เกิดความเสียหายเพราะฉะนั้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เตรียมความพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำน้อย เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และหากประชาชนประสบปัญหาได้รับผลกระทบขอให้แจ้งอำเภอ ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ประสานงานกับหน่วยงานทหารภายในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
ข่าว : #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็บไซต์ : https://ayutthaya.prd.go.th/