วันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 14 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยมี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี ผู้บริหารเเละเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน ผู้นำท้องที่และเครือข่ายโคกหนองนาพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนข้อมูลในการดำเนินงานตามโครงการฯ
โดยในเวลา 09.30 น. ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน และคณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงครัวเรือนต้นแบบ นางพวงชมพู มีราช บ้านหนองขอน หมู่ที่ 6 ตำบลหนองขอน ซึ่งเป็นแปลงพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ขุดตามแบบมาตรฐาน 1 ต่อ 3 ถือเป็นแปลงต้นแบบที่มีความสมบูรณ์ ทั้งโคก หนอง นา มีการดำเนินการตามหลักทฤษฎีใหม่และหลักกสิกรรมธรรมชาติ พื้นที่ “โคก” มีการปลูกไม้ 5 ระดับ ปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด ปัจจุบันให้ผลผลิตได้บริโภคเอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน และจำหน่ายสร้างรายได้ให้ครัวเรือน เช่น กล้วย ถั่วฝักยาว ถั่วพลู ข่า ตะไคร้ พริก อ้อย ส่วนไม้ป่าและไม้ผลอีกหลากหลายชนิด กำลังเติบโตงอกงาม / พื้นที่ “หนอง” ในแปลงแห่งนี้ มีจำนวน 2 หนอง มีคลองไส้ไก่เชื่อมสู่แปลงนา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกือบเต็มหนอง มีการเลี้ยงปลาไว้บริโภค หนองแรกเลี้ยงปลากินเนื้อ เช่น ปลาหมอ ปลาช่อน ส่วนหนองที่สองเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาใน ปลาทับทิม สำหรับคลองไส้ไก่ มีไว้เลี้ยงหอยขม หอยเชอรี่ และเป็นที่อยู่ของปลาธรรมชาติ ซึ่งทั้งหนองและคลองไส้ไก่ ได้สร้างผลผลิต เพื่อบริโภค แบ่งปัน และจำหน่ายแล้ว / พื้นที่ “นา” ได้ทำนาข้าว นาผักแขยง ปลายนาปลูกผักบุ้ง และมีการเลี้ยงปลาดุกในนาข้าว ถือได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแปลงต้นแบบที่มีความสมบูรณ์ มีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม ทุกพื้นที่ในแปลงแห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งพื้นที่โคก พื้นที่หนอง และพื้นที่นา
ต่อมาในเวลา 11.00 น. ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนและคณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) แปลง นายวราวุฒิ วงค์มั่น บ้านพรานบุญ หมู่ที่ 13 ตำบลหนองขอน เป็นแปลง 15 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วนแบบ 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย ขุดปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53 (นพค.53 ศรีสะเกษ) ในแปลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) แห่งนี้มีฐานเรียนรู้จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนติดดิน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ ฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ และมีกิจกรรมเด่นในแปลงเป็นศูนย์เรียนรู้โดยสาธิตการพึ่งพาตนเองโดยใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติ
โอกาสนี้ นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 14 ได้กล่าวชื่นชมเจ้าของแปลงทั้ง 2 แห่ง ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาเรียนรู้ และนำไปขยายผล ทั้งสองแห่งถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว ขั้นต่อไปอยากให้สร้างการรับรู้สู่ภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางสื่อที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและในวงกว้าง โดยเฉพาะแปลงทั้งสองแห่งถือเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง จึงอยากให้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิธีการต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าของแปลงมุ่งมั่นตั้งใจทำต่อไปอย่างเต็มที่ มีความสุขกับสิ่งที่ทำในพื้นที่ของตนเอง และขยายผลองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ต่อไป
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี..ภาพข่าว/รายงาน