เตือนภัย 2 พืชตระกูลถั่วเฝ้าระวังหนอนและโรคโคนเน่าขาวทำลายผลผลิต ช่วงติดฝักและเจริญเติบโต

นายศรุต  สุทธิอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงนี้ถั่วเหลืองอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโตของลำต้น  ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการทำลายของหนอนกระทู้ผัก ซึ่งจะเข้าทำลายตั้งแต่ถั่วเหลืองเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ จนถึงระยะออกดอกและติดฝัก หนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะผิวใบด้านล่าง ทำให้เหลือแต่เส้นใบ เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว

เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง  โดยหนอนจะกัดกินจากขอบใบเข้าไป  เมื่อพบการระบาดแนะนำให้พ่นเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง  หรือ พ่นสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  โดยพ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ในระยะก่อนออกดอก

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังหนอนม้วนใบเข้าทำลายผลผลิตด้วย โดยหนอนม้วนใบที่ฟักออกจากไข่   ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชักใยบาง ๆ คลุมตัวไว้ แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจึงกระจายกันออกไปทั่วทั้งแปลง  สร้างใยยึดใบพืชจากขอบใบของใบเดียวเข้าหากันหรือยึดใบมากกว่า 2 ใบเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมดแล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป   หากพบการระบาดให้พ่นสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร   พ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ก่อนออกดอก

นายศรุต  กล่าวว่า  สำหรับถั่วลิสงซึ่งอยู่ในช่วงระยะออกดอกและติดฝัก  ให้เฝ้าระวัง โรคลำต้นเน่าหรือโคนเน่าขาว  โดยถั่วลิสงจะแสดงอาการเหี่ยวและยุบตัวเป็นหย่อม ๆ ในแปลงปลูก บริเวณโคนต้นเหนือดินพบแผลสีน้ำตาลและมีเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคสีขาวลักษณะหยาบ ต่อมาเส้นใยของเชื้อราจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำคล้ายเมล็ดผักกาด ต่อมาต้นจะแห้งและตาย โรคนี้พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วลิสง แต่มักพบระบาดในระยะถั่วลิสงติดฝักถึงเก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัดโรค ให้เกษตรกรเตรียมแปลงปลูกโดยไถพลิกดินตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน เนื่องจากเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน  ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน  ในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี  และจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง  ไม่ให้มีความชื้นสูงซึ่งเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุโรค   หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ  หากพบต้นเป็นโรคให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณที่พบนำไปทำลายนอกแปลงปลูก  แล้วรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อป้องกันเชื้อสาเหตุโรคแพร่ไปยังต้นข้างเคียงด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์บอกซิน 75% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอส-เมทิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ อีไตรไดอะโซล 24% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยรดสารทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง   หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตควรทำลายซากถั่วลิสงโดยการไถกลบให้ลึกเพื่อตัดวงจรของเชื้อสาเหตุโรค  รวมทั้งควรทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค  ส่วนในแปลงที่พบการระบาดของโรครุนแรงควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด เป็นต้น