กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมด้อยค่านิสิต แนะกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำชับอาจารย์เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนิสิตนักศึกษา

กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมด้อยค่านิสิต แนะกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำชับอาจารย์เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนิสิตนักศึกษา – เตรียมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ชู 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชน ระดมภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อน

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 29/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมสื่อสารกับนิสิต แนะมหาวิทยาลัยต้นสังกัดกำชับให้ระมัดระวัง ให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำชับบุคลากรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสโมสรนิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 เกี่ยวเนื่องกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุว่าอาจารย์ผู้สอนรายหนึ่งใช้ถ้อยคำอันมีลักษณะส่อเสียด ดูหมิ่น เหยียดหยามในการสื่อสารกับนิสิตรายหนึ่งเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำรายงานผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งนิสิตเห็นว่าการใช้ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่มั่นใจ เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เหมาะสมกับวุฒิภาวะ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง ประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และสิทธิมนุษยชน อันหมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล

จากข้อเท็จจริง พบว่ากรณีการสื่อสารกันระหว่างผู้ถูกร้องและนิสิต มีที่มาจากการส่งรายงานของนิสิตที่ผู้ถูกร้องมอบหมายให้ทำ ผู้ถูกร้องจึงได้แสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้มีหน้าที่ตรวจรายงานเพื่อการให้คะแนน หากพิจารณาจากถ้อยคำที่สื่อสารกันถึงแม้ผู้ถูกร้องจะไม่ได้กล่าวถ้อยคำหยาบคาย แต่ผู้รับสารก็สามารถตีความได้ในสองแง่มุมทั้งในมุมบวกที่ต้องการให้นิสิตมีแรงขับเคลื่อนและมีแง่คิดในการเรียน และในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจตีความได้ว่าอาจารย์ผู้ถูกร้องตำหนินิสิตรุนแรงและเสียดสีให้รู้สึกไม่ดีตามที่นิสิตผู้เสียหายเข้าใจ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประกอบถ้อยคำของพยานบุคคลแล้ว ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าผู้ถูกร้องมีอุปนิสัยและลักษณะการพูดที่ค่อนข้างรุนแรง ตรงไปตรงมา และผู้ถูกร้องยืนยันว่ามีเจตนาแสดงความคิดเห็นในเชิงแนะนำ ตักเตือน หรือสั่งสอนเพื่อให้นิสิตพัฒนางานในทิศทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ประกอบกับผู้ถูกร้องไม่เคยพบหรือรู้จักกับนิสิตมาก่อนและเป็นการส่งรายงานครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าเจตนาของผู้ถูกร้องต้องการตักเตือนว่ากล่าวให้นิสิตปรับปรุงตัว โดยไม่ได้มีอคติส่วนตน เพียงแต่ยังใช้คำพูดที่อาจไม่เหมาะสมในการสื่อสาร จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของนิสิต ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริหารและอาจารย์ซึ่งมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือในความสัมพันธ์กับนิสิต ต้องระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำแสดงความคิดเห็นหรือว่ากล่าวตักเตือนบุคคลอื่น ที่อาจเป็นการทำร้ายความรู้สึกหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกด้อยค่า ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจทางคำพูดประเภทหนึ่ง (verbal abuse) และหากมีการกระทำแบบเดิมซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแก (bullying) ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้พูดในฐานะผู้ส่งสารก็ควรมีความตระหนักถึงการเคารพและให้เกียรติแก่ผู้ฟังหรือผู้รับสารไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในฐานะใด มิใช่มุ่งเพียงเจตนาของตนเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นข้ออ้างให้บุคคลนำมาเป็นเหตุผลในการใช้คำพูดเพื่อทำร้ายบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นการเริ่มต้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นเหยียดหยามโดยอ้างเจตนาที่ดี

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของผู้ถูกร้อง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดกำชับให้ผู้ถูกร้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำในการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดิม อันสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น รวมถึงกำชับให้บุคลากรในสังกัดระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อบุคคลอื่น นอกจากนี้จะต้องรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยตระหนักถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นด้วย

(2) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งมหาวิทยาลัย ทุกแห่งในสังกัดกำชับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอน ให้ระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำแสดงความคิดเห็นอันอาจบั่นทอนหรือลดทอนคุณค่าของบุคคลอื่น รวมถึงให้มีการรณรงค์ให้บุคลากร นิสิต และนักศึกษา ตระหนักถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างจริงจัง โดยนำรายงานผลการตรวจสอบนี้ไปใช้เป็นข้อมูล

2. เตรียมจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติ เนื่องในโอกาส 2 ทศวรรษ กสม. ชู 5 ประเด็น สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่าย

นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนโยบายในการสร้างเสริมและสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม.” ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 นี้ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะ ที่จะทำให้ประชาชน กลุ่มเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นสำคัญ ตลอดจนร่วมกันกำหนดนโยบายและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ

การจัดเวทีดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ กสม. จะจัดให้มีกระบวนการทำงานในรูปแบบสมัชชา เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษของการก่อตั้งองค์กร กสม. โดยกำหนดประเด็นที่สำคัญในการพูดคุยและขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่

1) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

3) สถานะบุคคล

4) สถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง

5) ความหลากหลายทางเพศ

ในการทำงานตามกระบวนการสมัชชา ที่ผ่านมาสำนักงาน กสม. ได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายแต่ละประเด็นย่อย เพื่อระดมความเห็น รวบรวมสถานการณ์ และข้อเสนอแนะจากเจ้าของปัญหา เพื่อเตรียมนำเสนอและมีมติร่วมกันในการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยการประชุมจะมีทั้งในห้องประชุม และผ่านทางออนไลน์

สำหรับเวทีกลาง จะมีเวทีพูดคุยทบทวนบทบาท ข้อท้าทาย และความคาดหวังต่อ กสม. รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนด้านนอกห้องประชุมจะมีนิทรรศการเหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม. และนิทรรศการจากภาคีเครือข่าย ทั้งองค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมด้วย

“นอกจากนี้ยังจะมีการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผ่านกิจกรรมการประกวดยุวทูตสิทธิมนุษยชน หรือ Young Human Rights Ambassador ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำนักงาน กสม. จัดร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย และ Wevis กลุ่มที่ทำงานด้านข้อมูลการเมืองอีกด้วย”

เลขาธิการ กสม. กล่าว และเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมยุวทูตสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยอัดคลิปวิดีโอผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เล่าถึงความสำคัญของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อชิงทุนขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาต่อไป โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน กสม.

สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมประเด็นกับทางภาคีเครือข่าย ในประเด็นสถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง ได้มีการเตรียมข้อมูลผลกระทบสถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ที่ประสบความยากลำบากในสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่

(1) กลุ่มเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าวและเด็กติดตามแรงงาน ซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือต้องอยู่รวมกันอย่างแออัด รวมทั้งเด็กที่หลุดออกจากระบบการเรียนออนไลน์

(2) กลุ่มคนไร้บ้าน ที่ตกงานขาดรายได้ และเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข

(3) กลุ่มสตรีและความเปราะบางในครอบครัว ซึ่งเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การท้องไม่พร้อมและความรุนแรงทางเพศ

(4) กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ และเข้าไม่ถึงวัคซีนในช่วงแรก

(5) กลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ต้องขาดรายได้และบางส่วนเป็นผู้สูงอายุซึ่งเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสาร

(6) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกเลิกจ้างและไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีสถานะการทำงานที่ผิดกฎหมาย

(7) กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ได้

(8) กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกเลิกจ้างจากมาตรการสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบการบางประเภท

(9) กลุ่มคนพิการ ซึ่งบางส่วนถูกเลิกจ้างมากขึ้นจากการปิดกิจการบางประเภท เช่น ร้านนวดแผนไทย และมีอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาผ่านระบบออนไลน์

(10) กลุ่มคนรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งประสบปัญหารายรับลดลงสวนทางกับรายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มีการตระเตรียมข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย

ส่วนประเด็นความหลากหลายทางเพศ มีการตระเตรียมข้อมูลเบื้องต้นกับภาคีเครือข่าย โดยมีข้อท้าทายและพัฒนาการใน 6 ประเด็น ได้แก่

(1) การผลักดันเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

(2) การผลักดันร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอร่างกฎหมายสู่สภาฯ

(3) สิทธิของพนักงานบริการ ที่เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน

(4) สิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์ไม่เป็นไปตามกรอบชายหรือหญิงอย่างชัดเจน ซึ่งยังขาดนิยามที่ครอบคลุมในระบบกฎหมาย

(5) การเคลื่อนไหวของเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา

(6) การถูกกีดกันในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อในกลุ่มชายรักชาย

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศจะได้สรุปประเด็นหลักที่จะนำเสนอในเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนร่วมกันด้วย

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
18 สิงหาคม 2565