กระทรวงคมนาคมร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร ครั้งที่ 2/2565
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร ครั้งที่ 2/2565
พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศไทย ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดย Dr. MURASE Masahiko, International Corporation and Engineering for Infrastructure Overseas Projects Division, Policy Bureau, MLIT ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย JICA Thailand Metropolitan Expressway (MEX) และ Oriental Consultants เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม และระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)
นายปัญญา ชูพานิช เปิดเผยว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอาคาบะ คาซูโยชิ (H.E. Mr. AKABA Kazuyoshi) รัฐมนตรี MLIT ในขณะนั้น ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 – พฤษภาคม 2569 โดยผลการประชุมในวันที่17 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมได้มีการนำเสนอความคืบหน้าความร่วมมือด้านเทคนิคทั้ง 5 โครงการ โดยส่วนราชการของกระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมย่อยกับ MLIT และที่ปรึกษาของประเทศญี่ปุ่น และได้รายงานอุปสรรคและความท้าทายต่อแผนงาน (Action Plan) ระยะสั้นและระยะกลางในแต่ละโครงการ พร้อมทั้งการปรับปรุงเนื้อหาการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถนำไปต่อยอดได้ ดังนี้
1. การพัฒนาการศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส – สำโรง) กรุงเทพฯ โดย นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลการดำเนินงานว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายญี่ปุ่นจะสนับสนุนการวิเคราะห์การคำนวณปริมาณการจราจร และข้อเสนอการลงทุนในการก่อสร้างให้เหมาะสมกับบริบทของไทยในระยะถัดไป เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนพัฒนารายละเอียดการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ภายในปี 2567
2. โครงการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร กรมทางหลวงชนบท รักษาราชการ ที่ปรึกษาด้านการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายจุติพงศ์ พาราพันธกุล วิศวกรโยธาชำนาญการ ได้นำเสนอแนวทางพัฒนาเส้นทางโครงข่ายถนนให้มีความเหมาะสม ทั้งในมิติการใช้งานและบำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการถนนกับส่วนราชการท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และทิศทางการแก้ไขปัญหาย่อยอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยในการเชื่อมโยงระหว่างถนนสายรองและสายหลัก
3. การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า โดย นางสาวรัตนา อิทธิอมร ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงความก้าวหน้าความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในเมืองหลักที่เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และในจังหวัดชายแดนและพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อการขนส่งกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะระบบรางเพื่อให้มีการเชื่อมต่อและสามารถเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ ปัจจุบันมีโครงการ Flagship ทั้งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม และในชั้นถัดไปไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการสถานีขนส่งสินค้าของประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับใช้กับการดำเนินการในประเทศไทยต่อไป
4. การพัฒนาศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ กรมทางหลวง (Highway Traffic Operation Center: HTOC) โดย นายอภิวรรธน์ โชติสังกาศ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักอำนวย ความปลอดภัย ได้นำเสนอแนวทางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคในการดำเนินการเพื่อมาประยุกต์ใช้กับ HTOC ให้ที่ประชุมทราบ
5. โครงการพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาทางลอด (พื้นที่นำร่อง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) โดย นางสาวหทัยรัตน์ มณีเทศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและแผนงาน สำนักก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับฝ่ายญี่ปุ่นในเรื่องการตรวจสอบและบำรุงรักษา ทั้งในมิติความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber) และการเตรียมการรองรับภัยพิบัติจากประสบการณ์ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอความสำเร็จการดำเนินโครงการ MaaS PoC in Phuket Smart City และข้อเสนอแนะกิจกรรมที่จะดำเนินการกับส่วนราชกระทรวงคมนาคมในโครงการ Demonstration of Mobile Mapping System in Bang Sue ด้วย