1. ผลการดำเนินงาน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 3 วันล่วงหน้า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเกินระดับควบคุมสูงสุด ร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำให้เกิดผลกระทบกับท้ายน้ำน้อยที่สุด
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 16 – 17 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก
3. สถานการณ์อุทกภัย
จากสถานการณ์ พายุโซนร้อน “มู่หลาน” (วันที่ 11 – 15 ส.ค. 65) และสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่าน ประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคุลมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย (วันที่ 15-16 สิงหาคม 2565) ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่งผลให้เกิดน้ำาท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 28 จ. (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บลราชธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม เลย ระนอง และภูเก็ต)
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 6 จ. (พิษณุโลก พิจิตร อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี) ดังนี้
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นครไทย และอ.วังทอง คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สากเหล็ก และอ.วังทรายพูน ทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร คาดว่า 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำยืน และอ.นาจะหลวย ทำให้น้ำเอ่อล้นลำห้วยและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร คาดว่า 2-3 วัน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และอ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์ว่าไม่เกิน 7 – 14 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ประกอบกับการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จังหวัดอ่างทอง (อ.ป่าโมก) ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 1,200 ลบ.ม/วินาที