วันอังคารที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕ ณ ห้องประชุม ๓๐๒ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
จากการประชุม ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๘ เรื่อง (ทำสัญญาว่าจ้างตกแต่งภายในห้องชุด ซื้อขายห้องชุด ก่อสร้างบ้าน ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ปรับปรุงต่อเติมซ่อมแซมอาคารพาณิชย์) ธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๕ เรื่อง (ซื้อคูปองหรือ Voucher กับร้านอาหารญี่ปุ่น ก่อสร้างบ้านน็อคดาวน์ และจัดหาพนักงานมาดูแล) รายละเอียด ดังนี้
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๘ เรื่อง
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งให้ตกแต่งภายในห้องชุดในราคา ๒๐๙,๐๐๐ บาท แบ่งชำระค่าจ้างจำนวน ๓ งวด และได้ชำระเงินไปแล้วทั้งสิ้น ๑๖๗,๒๐๐ บาทมีกำหนดส่งมอบวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เมื่อถึงกำหนดปรากฏว่าก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและทิ้งงานผู้บริโภคจึงว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการต่อ และได้มาร้องทุกข์ต่อ สคบ. ขอให้ชดใช้ค่าปรับ ต่อมาทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันได้และทำบันทึกข้อตกลง
โดยผู้ประกอบธุรกิจฯ รับว่าจะชำระเงินให้แก่ผู้บริโภค ๖๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระจำนวน ๓ งวด งวดละ ๒๐,๐๐๐ บาท ภายหลังปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดบันทึกข้อตกลง ไม่ชำระเงินให้กับผู้บริโภคตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงและกระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท และ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๑๐,๓๗๔,๐๐๐ บาท โดยชำระเงินจอง ๑๐๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๔๑๙,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๗๙๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้บริโภคชำระทั้งสิ้น ๑,๓๑๑,๐๐๐ บาท มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ต่อมาผู้บริโภคเข้าตรวจสอบพบว่าโครงการไม่คืบหน้า และบริษัทฯ ไม่แจ้งความคืบหน้า ในการก่อสร้างให้ทราบ ประกอบกับผู้บริโภคมีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา จึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน
กรณีดังกล่าวที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญานี้ เงินดังกล่าวถือเป็นเงินมัดจำที่บริษัทฯ มีสิทธิริบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเงินดาวน์ ๗๙๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการชำระราคาบางส่วน ไม่ใช่มัดจำและเบี้ยปรับที่บริษัทฯ มีสิทธิริบได้เพราะเหตุที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องคืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินดาวน์จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๗๙๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการกับบริษัทแห่งหนึ่ง กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ได้ชำระเงินจอง ๑๐๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๒๙๘,๘๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๓๒๓,๔๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น ๗๒๒,๒๐๐ บาท แต่บริษัทฯ ก่อสร้างล่าช้า ผู้บริโภคมีความประสงค์ให้บริษัทฯ คืนเงินทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย เมื่อบริษัทฯ ก่อสร้างล่าช้า และไม่มีการแจ้งความคืบหน้าในการก่อสร้างหรือมีหนังสือขอขยายระยะเวลา และเมื่อผู้บริโภคผ่อนชำระเงินดาวน์ไปแล้ว ๒๑ งวด จากทั้งหมดจำนวน ๒๖ งวด
โดยคาดหมายได้ว่าบริษัทฯ จะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ภายในกำหนดตามสัญญาได้ จึงมีสิทธิ์ที่จะหยุดชำระเงินดาวน์ตามสัญญาและมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินแก่ผู้ร้อง การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๗๒๒,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ ชั้น กับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ตกลงผ่อนชำระค่าจ้างทั้งหมดจำนวน ๘ งวด บริษัทฯได้ดำเนินงานก่อสร้าง งวดที่ ๔ เสร็จแล้ว เมื่อถึงกำหนดการก่อสร้างงวดที่ ๕ ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับระบบประปา เดินท่อปลวกและเทพื้น ผู้บริโภคได้ชำระเงินค่าก่อสร้างไปบางส่วน จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้บริษัทฯ แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่เข้าดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ต่อมาผู้บริโภคและบริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาท ซึ่งบริษัทฯ ตกลงจะชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้บริโภค แบ่งชำระจำนวน ๒ งวด แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดแรกปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอคืนเงินตามบันทึกข้อตกลง เมื่อบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ และกรรมการบริษัทฯ ในฐานะส่วนตัวเพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองซื้อบ้านพร้อมที่ดินในโครงการกับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยชำระเงินจอง ๕,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๑๕,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๖๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ร้องจะได้รับโปรโมชัน ฟรีค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ฟรีค่ากองทุน ฟรีค่าส่วนกลาง ๑ ปี ฟรีค่าจดจำนอง และฟรีค่าใช้จ่าย ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ต่อมาผูบริโภคมีการเปลี่ยนงานและไม่สะดวกที่จะพักอาศัยในบ้านดังกล่าวจึงได้แจ้งบริษัทฯ ขอเปลี่ยนโครงการ โดยพนักงานขายประจำโครงการบริษัทฯ แจ้งว่า หากเปลี่ยนโครงการจะไม่ได้รับโปรโมชันในส่วนของการทำสัญญาจองโครงการเดิม ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอให้ บริษัทฯ คืนเงินดาวน์
ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคตามสัญญา แต่ผู้บริโภคไม่ชำระเงินให้ครบถ้วนและไม่รับโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปรากฏข้อเท็จจริงต่อว่า เมื่อผู้บริโภคไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ จึงได้ขายบ้านหลังดังกล่าวและได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกแล้ว จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาสมัครใจบอกเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการริบเงินทั้งหมดของผู้บริโภค จึงเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค บริษัทฯ จึงต้องคืนเงินดาวน์ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค เมื่อไม่คืนเงินดาวน์จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคจำนวน ๓ ราย ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการกับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยผู้จะซื้อร่วม (จำนวน ๒ ราย) ซื้อห้องชุดในราคา ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยชำระเงินจองจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๔๗๕,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๖๖๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๕๕,๐๐๐ บาท ผู้บริโภครายที่ ๓ ซื้อห้องชุดในราคา ๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท โดยชำระเงินจอง ๑๐๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๔๘๐,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๓๑๓,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘๙๓,๓๐๐ บาท ปรากฏว่าโครงการยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯ คืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการคืนเงิน การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯเพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้จะซื้อร่วม จำนวน ๑,๑๕๕,๐๐๐ บาท และผู้บริโภครายที่ ๓ จำนวน ๘๙๓,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๐๔๘,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างรับเหมาปรับปรุงต่อเติมซ่อมแซมอาคารพาณิชย์ ๔ ชั้น (บ้านพักอาศัย) กับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง รวมเป็นราคาเหมาทั้งสิ้น ๓๙๒,๕๐๐ บาท มีกำหนดแล้วเสร็จ ๓๐ วัน โดยผู้บริโภคได้ชำระเงินไปแล้ว ๓๖๘,๕๐๐ บาท ภายหลังปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ดำเนินการไม่แล้วเสร็จและทิ้งงาน ต่อมาทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาไกล่เกลี่ย และทำบันทึกข้อตกลง โดยห้างหุ้นส่วนฯ ตกลงคืนเงินให้แก่ผู้ร้องจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระคืน ๑๐ งวด งวดละ ๖,๐๐๐ บาท ชำระทุกวันที่ ๕ของเดือน ต่อมาปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ไม่ชำระเงินแก่ผู้บริโภคตามที่ตกลงกันไว้จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาซื้อขายห้องชุดในโครงการกับบริษัทแห่งหนึ่ง ภายหลังจากที่ผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์และอยู่อาศัยพบว่าท่อน้ำประปาส่วนกลางแตก ทำให้ห้องชุดของผู้บริโภคมีน้ำซึมตามผนังห้องและทรัพย์สินภายในห้องชุดได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคจึงแจ้งให้นิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการแก้ไข แต่นิติบุคคลอาคารชุดฯ เพิกเฉย ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์เรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดไม่ซ่อมแซมท่อน้ำบริเวณช่องชาร์ปน้ำประปาในห้องชุดของผู้ร้องให้แล้วเสร็จ ทำให้ผู้บริโภคเสียหายต้องไปว่าจ้างบุคคลภายนอกมาแก้ไขประเมินความเสียหายเป็นเงินจำนวน ๒๘๙,๘๗๓.๑๓ บาท ค่าเสียหายดังกล่าวถือว่าเป็นผลโดยตรงมาจากการที่นิติบุคคลอาคารชุดละเลยไม่แก้ไขท่อน้ำให้กับผู้บริโภค นิติบุคคล
อาคารชุดจึงต้องรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดปฏิเสธ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่นิติบุคคลอาคารชุดฯ เพื่อบังคับให้แก้ไขห้องชุดให้แก่ผู้บริโภค หากไม่ดำเนินการแก้ไขได้ ให้นิติบุคคลอาคารชุดฯ ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคจากการว่าจ้างบุคคลภายนอกมาแก้ไขเป็นเงินจำนวน ๒๘๙,๘๗๓.๑๓ บาท และชดใช้เงินประเมินค่าเสียหายจากประกันภัยอาคาร
ที่ผู้บริโภคพึงได้รับจำนวน ๓๙,๗๙๕.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๕ เรื่อง
กรณีผู้บริโภคจำนวนพันกว่าราย ได้ซื้อคูปองหรือ Voucher กับร้านอาหารญี่ปุ่นของบริษัทแห่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อใช้สิทธิรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการโฆษณาขายคูปองหรือ Voucher ผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ในราคาเพียง ๑๙๙+ บาท พร้อมแสดงรูปภาพอาหารญี่ปุ่นประกอบการขาย ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนพันกว่ารายได้ซื้อคูปองหรือ Voucher จำนวนแตกต่างกันออกไป ต่อมาเมื่อถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ร้านอาหารญี่ปุ่นได้มีการปิดตัวลงโดยไม่มีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้สิทธิรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ได้ จึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคจำนวนพันกว่าราย พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ Ford รุ่น Everest ปี ๒๐๑๖ ในราคา ๘๔๐,๐๐๐ บาท โดยชำระมัดจำ ๒๐,๐๐๐ บาท ผ่านแอปพลิเคชัน KAIDEE มีเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทจำนวน ๒ ราย มีข้อสัญญาว่า “ผู้ขายรับประกันรถยนต์คันนี้ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจนเสียหายถึงโครงสร้าง พลิกคว่ำ จมน้ำ ตัดต่อตัวถังหากตรวจ๘พบผู้ขายต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อเต็มจำนวน…” ต่อมาผู้บริโภคตรวจสอบพบว่า รถยนต์คันพิพาทผ่านการชนถึงโครงสร้างและต้องซ่อมแซมหลายจุด จึงติดต่อผู้ขายแต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงขอความเป็นธรรม กรณีนี้ ผู้บริโภคต้องคืนรถยนต์คันพิพาท และผู้ถูกร้องต้องคืนเงินจำนวน ๘๔๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้บริโภค เมื่อผู้ขายไม่คืนเงินแก่ผู้บริโภคจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ถูกร้อง จำนวน ๒ ราย เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน ๘๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคว่าจ้างก่อสร้างบ้านน็อคดาวน์ ๒ ชั้น พื้นที่ ๔๒ ตารางเมตร กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดแล้วเสร็จ ๖๐ วัน ชำระค่าจ้างไปแล้วจำนวน ๒๔๐,๐๐๐ บาท ต่อมาบริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยบริษัทฯ ยินยอมชำระเงินให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท แบ่งชำระเป็น๓ งวดๆ ละ ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่ชำระเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้บริโภคภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯเพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จัดหาพนักงานดูแลผู้ป่วย ในอัตราค่าจ้างเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท โดยได้ชำระเงินมัดจำ ๑๘,๐๐๐ บาท และค่าบริการจัดส่งพนักงาน ๓,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้บริโภคต้องการที่จะเปลี่ยนพนักงานคนใหม่ เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และได้ชำระเงินค่าจ้างให้แก่พนักงานของห้างฯ คนก่อนแล้ว เป็นเงินจำนวน๑๒,๐๐๐ บาท จึงได้ติดต่อไปยังห้างฯ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ จึงทราบว่าได้ปิดกิจการแล้ว ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอคืนเงิน มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งให้จัดหาพนักงานดูแลผู้ป่วยในอัตราค่าจ้างเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท ผู้บริโภคได้ชำระเงินมัดจำ ๑๘,๐๐๐ และค่าบริการจัดส่ง เป็นเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อมาห้างฯ ไม่สามารถจัดส่งพนักงานให้แก่ผู้บริโภคตามสัญญามติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๗/๒๕๖๕ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๑๕ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๕,๒๑๘,๑๖๘.๘๘ บาท (ห้าล้านสองแสนหนึ่งหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยหกสิบแปดบาทแปดสิบแปดสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย