สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ส.ค. 65

+ ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.พะเยา (187 มม.) จ.เชียงใหม่ (183 มม.) และ จ.ชียงราย (108 มม.)

+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 47,971 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 41,715 ล้าน ลบ.ม. (58%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด

+ พื้นที่ประสบอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 11–13 ส.ค. 65 บริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ นครพนม เลย ปราจีนบุรี ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน และพิษณุโลก

+ ตามที่ กอนช. ได้มีประกาศแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 1,100 – 1,400 ลบ.ม./วินาที ให้สอดคล้องกับ การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 11 – 13 ส.ค. 65
จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำระหว่างวันที่ 11 – 13 ส.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2

จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราประมาณ 1,100 – 1,400 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 ประมาณ100 ลบ.ม./วินาที และลำน้ำสาขา อัตราประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง1,400 – 1,600 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100 – 1,400 ลบ.ม./วินาที

ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.60 เมตร อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล

จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป