กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2565 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้วิเคราะห์จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2565 พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงแม่น้ำป่าสักเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ สถานี S.3 อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ มวลน้ำดังกล่าวจะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 10 – 16 สิงหาคม 2565 อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคนร ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก และผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง

1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2565 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 – 17 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด

และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา บึงบอระเพ็ด น้ำพุง อุบลรัตน์ บางพระ หนองปลาไหล และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองบางกอกน้อยในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเพื่อเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงน้ำท่วมริมแม่น้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ แนวฟันหลอ และแนวเรียงกระสอบทราย

3. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 11 – 13 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ในขณะที่พายุโซนร้อน “มู่หลาน”บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก