“รองนายกฯวิษณุ”แนะเติมวิชาความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อ- หน้าที่พลเมือง-ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ในหลักสูตรโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

วันที่ 8 ส.ค. 2565  ที่โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี มีการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 40 “ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ ตอนหนึ่งว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ได้เพิ่มการเรียนการสอนในวิชาสำคัญที่นอกเหนือไปจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว อีก 2 วิชา คือ วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อ กับ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม และในปีการศึกษา 2565 นี้ก็ได้ เพิ่มการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ อีกวิชาหนึ่ง

ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่สามารถจัดการศึกษาได้หลากหลาย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ตนขอฝากผู้เกี่ยวข้องว่าในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นอาจนำวิชาความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อ วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และวิชาประวัติศาสตร์ใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย

“ ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมาย เป็นองค์ความรู้เรื่องราวในอดีตที่มีหลักฐานชัดเจน หากไม่รู้เรื่องในอดีตอาจทำเรื่องในอนาคตได้ไม่ดี เพราะคนในอดีตอาจทำเรื่องนั้นๆไว้แล้ว โดยเราสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน และอนาคตได้ในทุกๆสาขาอาชีพ หรือ อาจกล่าวได้ว่าก่อนจะแลหน้าให้เหลียวหลังก่อน จึงจะเรียกว่ารอบรู้ ประเทศชาติเปรียบเสมือนต้นไม้ ประวัติศาสตร์เปรียบเสมือนรากของต้นไม้นั้น ประวัติศาสตร์ทำให้รู้รากเหง้าของประเทศ ถ้าประวัติศาสตร์ยิ่งยาวก็ยิ่งแข็งแกร่ง เหมือนต้นไม้ที่มีรากแก้ว ไม่ใช่มีแต่รากฝอยซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นในที่สุดก็จะล้มลง ” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ความไม่ประสบผลสำเร็จของวิชาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ ได้คนที่ไม่สนใจมาสอน วิธีการสอนไม่สนุก และคนที่สอนกับคนที่เรียนไม่พอใจในวิชาเท่าที่ควร เมื่อไม่พอใจ ก็ไม่มีความพากเพียรเอาใจใส่ ซึ่งการใช้อิทธิบาท 4 คือ “ฉันทะ” ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่ “วิริยะ” ขยันหมั่นเพียรกับงาน “จิตตะ” ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน และ “วิมังสา” การพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจ มาเป็นแนวทางการทำงาน จะทำให้การสอนประวัติศาสตร์สำเร็จได้ ต้องสอนให้รู้ว่าเรื่องราวนั้นๆเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเกิดขึ้น และเกิดแล้วส่งผลอะไร ซึ่งไม่ใช่การสอนโดยให้ท่องจำ

จากนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชมนิทรรศการการจัดการ ศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นโรงเรียนที่นายกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ได้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้น เพื่อชุมชนในชนบทที่ห่างไกล โดย ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 111 โรงเรียน อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 100 โรงเรียน และ สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 1โรงเรียน.