วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ด้วยความเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พระครูสภกิจมงคล เจ้าอาวาสวัดโนนมะเขือ อำเภอกุดข้าวปุ้น, พระอธิการวิลยศักดิ์ รกฺขิธมฺโม วัดสร้างมิ่ง อำเภอม่วงสามสิบ และพระครูเกษมพิชโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม อำเภอเขมราฐ, เดินทางลงพื้นที่โคก หนอง นา สวนน้อยปลายนา โมเดล บ้านแก้งเหนือ ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจลูกศิษย์ ที่ทุ่มเททำ “โคก หนอง นา โมเดล” ด้วยศรัทธา ใจรัก อุทิศตน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ คณะสงฆ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระกรวงเกษตรและสหกรณ์ และทีมวิทยากรปูทะเลย์มหาวิชชาลัย หรือจากพลัง “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) นั่นเอง
แปลงโคก หนอง นา แห่งนี้ ได้ริเริ่มขึ้นโดย พระครูเกษมพิชโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม ได้แนะนำหลานคือ นางเข็มพร มังคละพลัง ให้บริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งได้พามาดูบริบท “โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล” จนเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ และได้กราบนิมนต์ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ มาดูพื้นที่ พร้อมทั้งให้ช่วยออกแบบเบื้องต้น ต่อมา พระพิพัฒน์วชิโรภาส ได้มอบหมายให้ทีมวิทยากรปูทะเลย์มหาวิชชาลัย มาขุดแปลง “โคก หนอง นา” ให้ในเนื้อที่ 4 ไร่ โดยมีข้อแม้ว่าเจ้าของแปลงจะต้องเข้ารับการฝึกอบรม 5 วัน
หลังจากที่ขุด “โคก หนอง นา ” แล้ว นางเข็มพร ได้เตรียมกายเตรียมใจเข้าอบรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบกับในช่วงปี 2564 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ พระครูเกษมพิชโสภณ จึงได้นำหลานคือ นางเข็มพร มังคละพลัง มาขอเข้าฝึกอบรมด้วย 5 วัน เพราะไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชน ภายหลังจากพามาส่งแล้ว นางเข็มพร มังคละพลัง เล่าให้ฟังทีหลังว่า วันแรกถึงกับร้องไห้ เพราะกลัว กังวล สับสนในหลายเรื่อง แต่พอได้พบ ได้พูดคุยกับเพื่อนที่เข้าอบรมด้วยกัน ได้รับฟังองค์ความรู้ ได้ลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ ตลอด 5 วัน ก็สนุกและได้ความรู้ จนในวันสุดท้ายยังไม่อยากกลับเลย รู้สึกมีความสุขมาก บอกถ้าไม่ได้มาอบรมครั้งนี้ต้องเสียดายเป็นอย่างมาก
เมื่อกลับจากอบรมแล้วก็ได้ใช้หลัก ททท. หรือ ทำทันที โดยเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกป่าสามอย่าง คือป่าพอกิน ป่าพอใช้ ป่าพออยู่ ช่วงแรกๆ ฝนยังไม่ตก หนองที่ขุดก็ยังไม่มีน้ำ ต้องหาบหิ้วน้ำจากหนองเดิมมารดต้นไม้ทีละต้น ด้วยความพากเพียร ท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์ของชาวบ้านบางคนต่างๆ นานา
ท่านพระครูเกษมพิชโสภณ ได้เพาะต้นไม้หลากหลายชนิดไว้ พอโตได้ 30-50 ซม. ก็ให้หลานเอาไปปลูกในแปลงโคก หนอง นา โดยใช้กล้วยเป็นไม้พี่เลี้ยง จากความพากเพียรของเจ้าของแปลง ต้นไม้ที่ปลูกก็เริ่มเจริญเติบโต เขียวงาม ทั่วทั้งแปลง จากความแห้งแล้งกลับมาเขียวขจี สร้างความดีใจอิ่มใจให้เจ้าของแปลง
ต่อมา นางเข็มพร มังคละพลัง ได้เข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกหนึ่งโครงการ และได้ปรับพื้นที่เพิ่มเติม ขุดหนองเก็บน้ำเพิ่มเติม เมื่อฝนตกลงมาก็เริ่มปลูกป่าสามอย่าง คือป่าพอกิน ป่าพอใช้ ป่าพออยู่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหอย เลี้ยงปลา เมื่อหนองที่ขุดไว้รับน้ำ และน้ำเต็มหนอง ก็ได้จัดระบบน้ำ โดยใช้ปั๊มสูบจาหนองมารดต้นไม้ เนื่องจากพื้นที่เป็นดินปนหินเมื่อปลูกต้นไม้แล้วเจริญเติบโตได้ดี ช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 พระครูเกษมพิชโสภณ และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ก็ได้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนโคก มีป่า เผือก มัน เจ้าของแปลงได้ทำกระท่อม 1 หลัง และพาครอบครัวมาพักที่สวนน้อยปลายนา บอกว่ามีความสุข สงบ เย็น ผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อยู่ ได้กิน ได้ทาน ได้แบ่งปัน ได้ขายเพิ่มรายได้กลับมาจากที่ได้ลงทุนไป เสียงวิพากย์วิจารณ์ก่อนหน้านั้น กลับมาเป็นเสียงชื่นชมในวันนี้
ในวันนี้ 6 สิงหาคม 2565 ย่างเข้าปีที่สอง พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พระครูสภกิจมงคล วัดโนนมะเขือ, พระอธิการวิลยศักดิ์ รกฺขิธมฺโม วัดสร้างมิ่ง และพระครูเกษมพิชโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม จึงได้ลงไปให้กำลังใจอีกรอบ เห็นถนนเข้าสวนถูกปรับให้กว้างขึ้น มีการปลูกป่าสามอย่างริมถนน ภายในแปลงทั้งสองแปลงต้นไม้เกือบเต็มพื้นที่แล้ว มีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีการสร้างบ้านหลังใหม่มั่นคงกว่าเดิม มีการนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมมาสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำดื่มสมุนไพร และเปิดตลาดในสวน รวมทั้งรับออเดอร์ ส่งผลผลิตในชุมชน ชีวิตเริ่มมีความมั่นคงทั้งขั้นพื้นฐาน 4 พอ คือพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และเริ่มมีความมั่นคงขึ้นก้าวหน้าคือ มีบุญ มีทาน มีเก็บถนอมอาหาร มีขายเพิ่มรายได้ และมีเครือข่าย
จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือพี่น้องในตระกูล ก็หันมาปรับพื้นที่อีกหลายแปลงเพื่อทำ “โคก หนอง นา” ด้วยทุนของตนเองเพื่อสุขภาพดี จิตใจสดใส ครอบครัวอบอุ่น มีคุณธรรมและความพอเพียง
ท้ายที่สุด พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวอำนวยอวยพร แก่เจ้าของแปลงว่า “ขอเป็นกำลังใจพี่น้องที่มีศรัทธา ใจรัก และได้นำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา” มาเขียนเป็นตำราลงบนแผ่นดิน และขออนุโมทนา ต่อกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้นำโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” และเกษตรทฤษฎีใหม่ ลงไปสู่ประชาชนให้คนในชุมชน สังคม ประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แปลงนี้ เป็นตัวอย่างที่สามารถเข้าไปพิสูจน์ มิติแก้แล้ง แก้ท่วม แก้จนได้ สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ และศึกษาดูงานได้เป็นอย่างดี”
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน