สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ส.ค. 65

+ ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ. หนองคาย (164 มม.) จ.ตราด (146 มม.) และ จ.ลำปาง (88 มม.)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,566 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,545 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)

กอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือ น้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล ดังนี้

กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 65 จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่เพิ่มสูงขึ้นที่ อ.พิมาย ที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำแม่น้ำมูล ลำตะคอง ลำเชียงไกร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่บริเวณโดยรอบ อ.พิมาย โดยเขื่อนพิมายได้เร่งระบายน้ำออกเต็มอัตราตามธรรมชาติ อีกส่วนเร่งระบายออกตามคลองสายใหญ่ ซึ่งการเปิดประตูระบายน้ำ นอกจากจะเป็นการระบายน้ำที่มาจากพื้นที่ อ.หนองบุญมาก และเพื่อรองรับน้ำใหม่ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากพายุฝนที่จะเกิดขึ้นตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในระยะนี้ด้วย ในพื้นที่ อ.พิมาย มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยประกอบด้วย ต.ในเมือง ต.ท่าหลวง และต.โบสถ์

กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป