อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและคณะ เข้าพบนายกเมืองพัทยาเพื่อหารือแนวทางการใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาสนับสนุนการพัฒนาเมือง

วันที่ 5 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น. คณะผู้บริหารกรมอุตุนิยมวิทยา นำโดย ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วย นายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ รองอธิบดีฝ่ายปฏิบัติการ นางสาวชลาลัย แจ่มผล ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ นายสมภพ วงศ์วิไล ผู้อำนวยการกองบริการดิจิทัลอุตุนิยมวิทยา และคณะ เดินทางเข้าพบ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา หารือการนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาใช้ในการวางแผนพัฒนาเมืองพัทยา ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ดร. ชมภารี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการหารือวันนี้ เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองพัทยาตามแผนวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองพัทยา พ.ศ.2566-2570 ซึ่งตั้งเป้าสู่ “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน” โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยสำหรับทุกคน

2. ยุทธศาสตร์การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองพัทยาเชื่อมต่อการขนส่ง ทางบก ทางราง และทางทะเล ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ

3. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

5. ยุทธศาสตร์การยกระดับการบริหารเมืองพัทยาเป็นองค์กรที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง

ในนามกรมอุตุนิยมวิทยา ตนมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเมืองพัทยา ทั้งข้อมูลตรวจวัดและข้อมูลพยากรณ์ ในทางสภาพอากาศและทางน้ำ ไปใช้ในการสนับสนุนแผนการพัฒนาเมืองพัทยา ไม่ว่าจะเป็น

1. แผนเทคโนโลยี โดยการแจ้งเตือนภัยผ่านทาง SMS และ LINE OA ทั้งนี้ ในอนาคต จะใช้ระบบ Cell Broadcast ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่ามาก

2. แผนโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง ทั้งในทางอากาศ ที่สามารถใช้การรายงานสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศการบิน ส่วนทางน้ำ จะใช้การพยากรณ์อากาศเพื่อการเดินเรือ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกรมอุทกศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

3. แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช้การพยากรณ์อากาศเพื่อการท่องเที่ยว ส่วนการประมง กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถสนับสนุนข้อมูลการพยากรณ์กระแสน้ำ และระดับน้ำทะเลได้

4. แผนรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในการบริหารและจัดการน้ำท่วม สามารถใช้ข้อมูลการพยากรณ์ฝนจากเรดาร์และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งใช้การพยากรณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจากแบบจำลอง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ให้เป็นมาตรฐานและมีความทันสมัย และยังมีการเพิ่มช่องทางในการให้บริการข้อมูลผ่านทางระบบ API (Application Program Interface) หรือส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้นอีกด้วย