รองผู้ว่าฯ พาลุย ชมความสำเร็จของ “โคก หนอง นา พช.” อ.น้ำยืน มุ่งถ่ายทอดนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 16.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) และนางสาวบุศยรังสี ยุภาศ นักพัฒนาชุมชน กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” หรือ “โคก หนอง นา พช.” โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งบกรมการพัฒนาชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรมการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 3 ไร่ ของนางศุภาวัน วงศ์คำ บ้านชัยเจริญ หมู่ที่ 12 ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมี นายวิทยา มุลน้อยสุ นายอำเภอน้ำยืน นายวัชรินทร์ ถูกธรรม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ผู้แทนพัฒนาการอำเภอน้ำยืน นายสภาวุฒิ นารี นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และครอบครัวเจ้าของแปลงฯ ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน

สำหรับอำเภอน้ำยืนมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวนทั้งหมด 27 แปลง โดยเฉพาะการที่อำเภอน้ำยืน นั้นถือเป็นพื้นที่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อการทำการเกษตร การปลูกพืชเศรษฐกิจ สวนผลไม้ และการทำไร่นาสวนผสม จึงมีการพัฒนาพื้นที่และนวัตกรรมด้านการเกษตรอยู่เสมอ ทั้งจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชนและเจ้าของแปลงที่เชื่อมโยงเครือข่ายในการผลิตและนำผลผลิตที่ได้เพื่อไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

ในส่วนของกิจกรรมฯ ภายในแปลง “โคก หนอง นา” ของนางศุภาวัน วงศ์คำ ประกอบด้วย การพัฒนานวัตกรรมโซล่าร์เซลล์ เพื่อควบคุมระบบน้ำในแปลง การประมง เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำในคลองไส้ไก่ เลี้ยงหอยและแหนแดงในบ่อ, การเลี้ยงแพะ, การเพาะเห็ดโคน (เห็ดปลวก) ไว้สำหรับเพาะปลูกและจำหน่าย, การทำน้ำหมักรสเปรี้ยว หรือทำน้ำหมักสมุนไพรรสเปรี้ยว โดยวัตถุดิบที่มีในแปลง, การปลูกกล้วย สับปะรด บัวแดง และปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจัดอยู่ในการเกษตรประเภทเกษตรผสมผสาน โดยเน้นการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ร่วมกันในแปลงเดียวกัน

นอกจากนั้น ภายในแปลง ยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานพัฒนาชุมชนอื่นๆ เช่น สินค้า OTOP เครื่องจักสานจากต้นกกราชินี และตะกร้าพลาสติก ของคุณแม่คำปุ่น วงศ์คำ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นในพื้นที่ และได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ 2-4 ดาว ด้วย

โอกาสนี้ เจ้าของแปลงเปิดเผยว่า ขอขอบคุณ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึง รัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอน้ำยืน ส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้มาเยี่ยมชม และสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนในครั้งนี้

ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขได้ที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้มาก เพราะมีโอกาสเข้ารับการอบรม และขุดปรับพื้นที่แปลงตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และหลักกสิกรรมธรรมชาติ เป็นที่เรียบร้อย ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน และรัฐบาล ที่นำงบประมาณมาช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ให้สามารถพึ่งตนเองและเลี้ยงชีพได้ ในปัจจุบันพื้นที่ 3 ไร่ แห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ ในด้านเทคโนโลยีการเกษตร ให้ผู้สนใจและประชาชนทั่วไป ได้มาศึกษาดูงาน ตนขอสัญญาว่าจะให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และทำประโยชน์เพื่อชุมชนท้องถิ่นต่อไป

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน