1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล บางประกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากวันที่ 31 ก.ค. 2565 เกิดฝนตกหนักส่งผลให้น้ำป่าจากเทือกเขาไหลลงสู่ลำน้ำเฟี๊ยะ(ลำน้ำสาขาแม่น้ำแควน้อย) ส่งผลให้มีบ้านเรือนประชาชนประมาณ 40 หลังคาเรือน ประกอบด้วยหมู่ที่ 1,8,2,10 และ 4 ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จากดินโคลนและเศษซากวัชพืชไหลมากับน้ำ แนวโน้มสถานการณ์น้ำคาดการณ์ หากไม่มีฝนตกซ้ำลงมาในพื้นที่ จะเข้าสู่ภาวะปกติ 1-2 วัน เนื่องจากลักษณะของพื้นที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง ทำให้น้ำป่าไหลจากเทือกเขาจากฝนตกหลายชั่วโมงหรือตกสะสม จะเป็นในลักษณะมาเร็วและลดระดับลงเร็ว
จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเชิญและลำน้ำสาขามีปริมาณน้ำในระดับที่สูงขึ้น รวมกับน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม รวม 1 อ. ได้แก่ อ.ภูเขียว พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 800 ไร่ บริเวณบ้านม่วง ต.กุดยม และ ต.หนองคอนไทย ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ประสบภัย มีแนวโน้มลดลดตามลำดับ และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3 วัน
จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่น้ำท่วมขังใต้ถุนรวม 1 อ. ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ บริเวณ หมู่ที่ 9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ประมาณ 10 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูง 0.10 -0.30 เมตร จากการที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 1,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยมีระดับสูงขึ้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำน้อยเริ่มลดลง เนื่องจากประตูระบายน้ำยางมณีปิดการระบาย คาดการณ์เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำน้อยกว่า 800 ลบ.ม/วินาที สถานการณ์จะคลี่คลาย ภายใน 1-2 วัน ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบาย 749 ลบ.ม./วินาที
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผง ที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อ. ได้แก่ อ.ผักไห่ และ อ.เสนา ความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดการระบายน้ำลง เพราะปริมาณน้ำเหนือเริ่มลดลง และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน