สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ก.ค. 65

+ ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.อุบลราชธานี (104 มม.) จ.ชุมพร (94 มม.) และ จ.เพชรบุรี (72 มม.)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,117 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,105 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)

กอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

• กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,080 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.82 เมตร โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในพื้นที่ตอนบนปริมาณฝนน้อยและปริมาณน้ำท่าลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเหลืออัตรา 980 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 65 เวลา 09.00 น.และจะทยอยปรับลดเหลือประมาณ 850 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองสาขาต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

• กรุงเทพมหานคร ตรวจแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กรุงเทพมหานครมีแนวเขื่อนกันน้ำ 88 กิโลเมตร เป็นของเอกชน 8 จุด โดยบริเวณท่าเรือสี่พระยา เป็นจุดหนึ่งที่มีปัญหาน้ำท่วมหากมีสถานการณ์น้ำขึ้น เนื่องจากเป็นจุดฟันหลอ จากทั้งหมด 23 จุด อยู่ฝั่งพระนคร 14 จุด ฝั่งธนบุรี 9 จุด ที่น้ำอาจทะลักเข้าไปได้ โดยให้สำนักระบายน้ำวางแผน จัดคนเฝ้าระวังแต่ละจุด ทั้งกลางวันกลางคืน นอกจากนี้ จะรีบจัดเก็บผักตบชวาที่มีอยู่มากโดยเร็ว เพราะอาจมีปัญหากับการสัญจรของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะยังอยู่ในความสามารถที่ กรุงเทพมหานครสามารถรับได้ ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที