สทนช.รับลูก “พลเอก ประวิตร” ห่วงประชาชน พื้นที่เสี่ยงเจอท่วม ช่วง 27 ก.ค.-1 ส.ค.เร่งประสานทุกฝ่ายพร้อมป้องกัน

รองนายกฯ “ประวิตร” ห่วงใยประชาชนพื้นที่เสี่ยง รับผลกระทบ ช่วง 27 ก.ค.-1 ส.ค.นี้ สทนช.เด้งรับลูกเตรียมพร้อมเต็มร้อย ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมการรับมือทั้งมรสุมและระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง ผนึกกำลังเสริมแนวคันกั้นน้ำที่ชำรุด ปรับการระบายน้ำรับสถานการณ์

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จากกรณีการเกิดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบน และประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 27 ก.ค.- 1 ส.ค. 65 นี้  และส่งผลให้เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้  พร้อมสั่งการให้ สทนช. และฝ่ายปกครอง ประสานกับทหาร ตำรวจ และจิตอาสาในพื้นที่  ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชน และเตรียมความพร้อมเพื่อให้การช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงอย่างทันท่วงที รวมถึงกำชับให้ สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในช่วงระหว่างวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค.65 อย่างใกล้ชิด นั้น

ขณะนี้ สทนช.ได้เร่งประสานหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.พร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งจากสถานการณ์ที่อาจจะเกิดฝนตกหนัก ประกอบกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.9 – 2 เมตร อาจกระทบกับประชาชนที่อาศัยในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว รวมทั้งจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะแนวคันกั้นน้ำที่ชำรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ  นนทบุรี และ สมุทรปราการ  ซึ่งสทนช. ได้ดำเนินการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยแนวทางดำเนินการ คือ การเสริมคันกั้นน้ำชั่วคราว การสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของแนวคันป้องกันไม่ให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้านประชาชน รวมถึงการประสานหน่วยงานรับผิดชอบปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์  พร้อมทั้งประสานการขอความร่วมมือจากจิตอาสา ช่วยสนับสนุนการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์

“ความคืบหน้าในการช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ น่าน เลย พิจิตร นครราชสีมา ระนอง ตรัง และนครศรีธรรมราช   สทนช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดส่งเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อเร่งระบายน้ำโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันทุกพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมจะได้เข้าสำรวจความเสียหาย ช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยยังคงเหลือเพียงจังหวัดยะลาที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน  3 วัน และได้ทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.สุรสีห์ กล่าว

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

28 กรกฎาคม 2565