ลูกจ้างถูกข้อต่อเครนทับเสียชีวิต! รมว. เฮ้ง ส่งทีมเฉพาะกิจเร่งช่วยเหลือและตรวจสอบหาเท็จจริงทันที

รมว. แรงงานห่วงลูกจ้างประสบอุบัติเหตุถูกข้อต่อเครนทับเสียชีวิต ส่งทีมเฉพาะกิจ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ช่วยเหลือลูกจ้างและครอบครัว พร้อมทั้งตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุถูกข้อต่อเครนหลุดหล่นทับเสียชีวิต ย่านบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างทันที โดยผมได้สั่งการให้คณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือ การประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้างผู้เสียชีวิตและครอบครัวให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นพบว่า นายวชิรวิชญ์ นันท์ไพศาล ลูกจ้างช่างซ่อมเครน ขณะปฏิบัติหน้าที่ เกิดอุบัติเหตุข้อต่อเครนหลุดและหล่นลงมาทับร่างลูกจ้างเสียชีวิต โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำร่างผู้เสียชีวิตส่งให้สถาบันนิติเวชเพื่อชันสูตรอย่างละเอียด ก่อนมอบให้ญาติครอบครัวนำร่างไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้นายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินที่จะเกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงาน

นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือ การประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (28 กรกฎาคม 2565) คณะทำงานเฉพาะกิจฯ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ลูกจ้างผู้เสียชีวิตจะได้รับให้ครอบครัวของลูกจ้างได้รับทราบ โดยจากรายงานของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี ลูกจ้างจะได้รับสิทธิค่าทำศพจำนวนเงิน 50,000 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตให้แก่ทายาทของลูกจ้างร้อยละ 70 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับเป็นระยะเวลา 10 ปี ในส่วนของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุนั้น พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 จะเชิญนายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้