รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2565 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับกรมชลประทานได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมเจ้าท่า ดำเนินการเปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกคลองลำสนธิ ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 ระยะทางประมาณ 1,150 เมตร โดยมีแผนดำเนินการ 40,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการ 75 วัน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 13,500 ลบ.ม (33.75%) โดยผลที่ได้จากการขุดลอกในครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาอุทุกภัยซึ่งจะเกิดความเสียหายของเศรษฐกิจในชุมชนลดความเสียหายบ้านเรือนทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงและช่วยการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากต่อไป

3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 28 – 29 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้

4. สถานการณ์อุทกภัย

จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงในเขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ตำบลไทรน้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูล และอำเภอทับคล้อ คาดว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม

จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลลงคลองวังยาง วังโพรงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม อำเภอชุมแพ คาดว่าภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

จังหวัดชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอคอนสาร (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลดงบัง พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 610 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 – 1.0 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง

จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำท่วมอำเภอชุมแพ (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลไชยสอ พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 429 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 – 0.7 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผงที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา ความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำ C.13 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสถานีวัดน้ำ C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,100 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือ เขื่อน +16.40 ม.รทก.