ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร (กิจกรรมพัฒนากลไกการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ในปี 2565
โดยโครงการดังกล่าว มีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยดำเนินการประสานงาน แนะนำ ส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร และการเชื่อมโยงเครือข่าย กำหนดเป้าหมาย สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 234 แห่ง 77 จังหวัด
จากการติดตามการดำเนินโครงการฯ โดยศูนย์ประเมินผล สศก. ปีงบประมาณ 2565 รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2564 – มิถุนายน 2565) ภาพรวมพบว่า ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการวางระบบการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร และผลผลิตในจังหวัด และส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรและตลาดออนไลน์ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวม 281 แห่ง (ร้อยละ 121 ของเป้าหมาย) รวม 77 จังหวัด (ครบเป้าหมาย)
โดยจากการลงพื้นที่ติดตามผลของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการด้านการตลาด โดยดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่าย/คลัสเตอร์ ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวม 21 สหกรณ์ ดำเนินการครบถ้วนตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการวางระบบการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด จำนวน 2 ครั้ง มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมโครงการ รวม 21 แห่ง ครบตามเป้าหมาย ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 จัดประชุมเพื่อวางแผนและทบทวน OPP (การวางแผนระบบการบริหารจัดการผลผลิต) สินค้าเกษตรของจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการจัดทำแค็ตตาล็อกสินค้า คัดเลือกผู้แทนคลัสเตอร์สินค้า และ ครั้งที่ 2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระบบจัดการผลผลิตเกษตรระดับจังหวัด โดยจัดเวทีให้สหกรณ์ผู้ผลิตที่มีความพร้อมในด้านการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร ได้พบปะกับชุมนุม/สหกรณ์ ที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และรับฟังความต้องการของผู้ค้าทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ระหว่างกันภายในจังหวัดนครราชสีมา
ผลจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เกิดการจับคู่ธุรกิจ โดยมีมูลค่าสินค้าเกษตรที่ซื้อขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ระหว่างสหกรณ์ภายในจังหวัดจังหวัดนครราชสีมา ในสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผัก และน้ำนมโค รวมทั้ง 21 สหกรณ์ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 147 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่ารวมกว่า 1,766 ล้านบาท และจากการสอบถามผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด ตำบลด่านขุดทด อำเภอด่านขุดทด
ซึ่งเป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในฐานะผู้แทนคลัสเตอร์สินค้าที่ดำเนินธุรกิจพืชไร่ ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์นมกับสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด เพื่อนำผลิตภัณฑ์นม ไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของสหกรณ์ฯ ผลจากการแลกเปลี่ยนทางการผลิตและการตลาดระหว่างสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด สามารถเพิ่มช่องทางการตลาด และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 ซึ่งคาดว่าปี 2565 จะมีรายได้รวม 175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 159 ล้านบาท ในปี 2564
ทั้งนี้ นอกจากการเชื่อมโยงเครือข่าย/คลัสเตอร์ ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตให้สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงได้จัด “ตลาดเกลียวใจ ช้อปอิ่มใจ ปลอดภัยทั้งครอบครัว” ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา โดยมีสินค้าผลิตภัณฑ์คุณภาพดีต่างๆ เช่น ข้าวสาร นม ปุ๋ย ผักปลอดสารพิษ ผ้าฝ้ายพื้นเมือง พันธุ์ไม้ และอื่นๆ กว่า 30 ร้านค้า เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ มีรายได้จากการนำสินค้ามาจำหน่าย และผู้บริโภคได้เลือกสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย ราคายุติธรรม
โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคในจังหวัดนครราชสีมา หรือทุกท่านที่มีโอกาสได้แวะผ่าน ร่วมอุดหนุนสินค้าของกลุ่มสหกรณ์ได้ โดยจะมีการจัดตลาดทุกวันพฤหัสบดี สุดท้ายของเดือน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.