พพ.ร่วมกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 83 แห่ง ได้เข้าถึงพลังงานสะอาด ลดการใช้น้ำมันและ LPG โดยมุ่ง สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มีครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 10,778 ครัวเรือน ประชากรได้รับประโยชน์มากกว่า 53,890 คน
วันที่ 27 ก.ค. 2565 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พพ. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยจะช่วยให้ประชาชนหรือเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล มีการใช้พลังงานทดแทนและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยโครงการฯ ดังกล่าว พพ.ได้ให้การสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลพื้นที่โครงพระราชดำริ ได้แก่ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และจะดำเนินการในพื้นที่โครงการพระราชดำริ 83 แห่ง วงเงินสนับสนุนรวมประมาณ 358 ล้านบาท สำหรับเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุน อาทิ ระบบสูบน้ำพลังงานอาทิตย์, ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก, ระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์, ระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ, เตาชีวมวล, เตาย่างไก่, เตานึ่งก้อนเห็ด เป็นต้น
จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จะให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ จำนวน 10,778 ครัวเรือน กว่า 53,890 คน ได้รับประโยชน์สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจาก ค่าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซล LPG ฟืน ถ่านไม้ กว่า 106 ล้านบาทต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น มีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เดิมมีแหล่งน้ำ แต่ไฟฟ้าเข้า ไม่ถึง ไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำมาเพาะปลูกได้
จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกจากเดิมนำผลิตภัณฑ์ไปตากแดด และจากการถนอมผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ไม่เน่าเสียจากเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับห้องเย็น มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นจากการที่มีไฟฟ้าใช้โดยเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์ และมีความสะดวกในการ เดินทางสัญจร หรือการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ในเวลากลางคืนจากเทคโนโลนีระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ ดร.ประเสริฐกล่าว