+ ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.ยะลา (88 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (79 มม.) และ จ.กระบี่ (78 มม.)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,905 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,890 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
+ กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 22/2565 เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค 65 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับในพื้นที่ตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น กอนช. จึงได้บูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน โดยผันน้ำเข้าระบบคลองฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มเติมแล้ว
ทั้งนี้ กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค 65 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 ม.รทก. อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และสมุทรปราการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์