นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตอธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการพิเศษและปราบปรามการกระทำความผิดด้านปศุสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน และกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ เลขที่ 555 หมู่ที่ 7 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีคุณอุเทน ยังประภากร เจ้าของฟาร์มฯ พร้อมด้วยผู้ดูแลสัตว์ นำเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมภายในฟาร์มฯ
ฟาร์มจระเข้ฯ ได้ดำเนินการเปิดกิจการมาแล้ว 55 ปี มีสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพสัตว์ในสวนสัตว์ แต่เนื่องจากประสบปัญหาโรคโควิคระบาดหนัก จึงจำเป็นต้องปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบันเหลือพนักงาน จำนวน 13 คน ทำหน้าที่ดูแลสัตว์ โดยมีสัตว์คงเหลือในฟาร์ม จำนวน 495 ตัว ไม่รวมจระเข้ เช่น ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย หมีขอ ม้าแคะ ลา แกะ แพะ ชะนี ลิง ชิมแปนซี อุรังอุตัง ฮิปโปโปเตมัส อีกัวน่า เต่า ตะพาบ งู นกต่าง ๆ
ซึ่งการบริหารจัดการด้านอาหารสัตว์ในสวนสัตว์ ในส่วนของสัตว์กินพืช จะมีหญ้าสด และพืชอาหารสัตว์อื่น (ผัก/ผลไม้) โดยมีหญ้าสดประมาณวันละ 1 รถกระบะ และภายในสวนสัตว์มีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ ประมาณ 20 ไร่ ในส่วนของสัตว์กินเนื้อ จะมีโครงไก่ โดยซื้ออาทิตย์ละ 1,000 กิโลกรัม และในส่วนของจระเข้ ทางฟาร์มได้เลี้ยงปลานิล เพื่อใช้เป็นอาหารจระเข้ในบริเวณฟาร์ม โดยผลการตรวจสอบสุขภาพสัตว์ทั้งหมดเบื้องต้น พบว่า สัตว์ส่วนใหญ่มีร่างกายสมบูรณ์ และมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม
ในส่วนของช้างทั้ง 4 เชือกที่ปรากฏเป็นข่าว โดยเฉพาะช้างสีดอบุญมีที่มีแผลจากการล่ามโซ่เป็นเวลานาน เนื่องจากไม่มีควาญช้าง จึงต้องให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาทำการยิงยาซึมจนสามารถเข้าไปตัดโซ่และรักษาแผลได้นั้น กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการเข้าตรวจประเมินแผล พบว่าแผลที่ขาซ้ายด้านหน้าดีขึ้น แผลมีสภาพแห้งและตื้นขึ้น ไม่มีคราบเลือดและหนองบริเวณแผล ส่วนค่า Body Condition Score(BCS) ได้ 2.5/5 (ค่า BCS มาตรฐาน ต้องไม่น้อยกว่า 3/5) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ทีมสัตวแพทย์จึงได้เน้นย้ำให้ผู้เลี้ยงทำความสะอาดแผลและให้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำจนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ ตลอดจนแนะนำให้ปรับโภชนาการอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนช้างอีก 3 เชือกนั้นพบว่ามีค่า Body Condition Score(BCS) 2.5/5 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานเช่นกัน ทางกรมปศุสัตว์จึงได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์มอบหญ้าสดจำนวน 1,500 กิโลกรัม และหญ้าแพงโกลาแห้งจำนวน 3,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการช่วยเหลือช้างบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นตามโครงการปันอาหารช้างฝ่าวิกฤตโควิด-19 ของกรมปศุสัตว์ โดยมีคุณอุเทน ยังประภากร เป็นผู้รับมอบ โดยในระยะยาวทีมสัตวแพทย์แนะนำให้เจ้าของฟาร์มฯ เสริมอาหารเม็ด ปรับโภชนาการอาหารให้มีความหลากหลาย
นอกจากนี้ ทีมสัตวแพทย์ยังได้แนะนำให้เพิ่มวัสดุปูรองนอนให้เหมาะสม และขยายความยาวของโซ่ที่ล่ามช้าง และห่อหุ้มโซ่ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายกับช้าง โดยให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และให้เจ้าของฟาร์มฯ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะตรวจติดตามสุขภาพช้าง เป็นประจำทุกสัปดาห์ หากพบภายหลังว่ายังไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของฟาร์มฯ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 22 โทษมาตรา 32 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยให้ไปชำระค่าปรับ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ภายใน 15 วันทำการ ซึ่งเจ้าของฟาร์มฯ แจ้งว่าจะเข้ามาชำระค่าปรับในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 และจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและจัดสวัสดิภาพช้างให้เหมาะสม ตามที่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ เข้ามาตรวจสอบติดตามในทุกสัปดาห์จนกว่าจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จ หากพบภายหลังว่ายังไม่ดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ฯ จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป