+ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (125 มม.) จ.ยะลา (95 มม.) และ จ.สระแก้ว (75 มม.)
+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และหนองคาย
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,390 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,433 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก ยังมีฝนตกและมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและมีน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น (วันที่ 23 ก.ค. 65) มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ 631 ลบ.ม./วินาที และแม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานี Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี 71 ลบ.ม./วินาที ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 16.34 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 490 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทาน (ชป.) คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 350-500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ซึ่ง ชป. จะรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกินระดับเก็บกัก 16.50 ม.รทก. และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 600-700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณ ตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบล ท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกประมาณ 0.50-0.75 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวยังคงต่ำกว่าตลิ่งลำน้ำ
ทั้งนี้ กอนช.เน้นย้ำให้หน่วยงานควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร