+ ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
+ ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.พิษณุโลก (167) จ.หนองคาย (124) และ จ.พังงา (84)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,197 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,282 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง
+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วัน บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ จันทบุรี และตราด
กอนช. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 65 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังข้อมูล ปัญหา อุปสรรค และการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 65 ร่วมกับกรมชลประทาน และได้หารือร่วมกันและวางแผนในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ติดตามสถานะความพร้อมของอาคารบังคับน้ำสำคัญ ได้แก่ ปตร.ผักไห่ ที่เป็นอาคารทดน้ำ จากแม่น้ำน้อย ให้ไหลผ่าน ปตร.ลาดชะโด ปตร.ลาดชิด ปตร. โพธิ์คอย เข้าสู่ทุ่งผักไห่ และการกำหนดเกณฑ์ในการควบคุม ความจุและระดับน้ำของทุ่งรับน้ำให้เหมาะสม พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุพร้อมรับสถานการณ์
น้ำหลาก ในกรณีปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือไหลมาสมทบกันจนระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จะดำเนินการพร่องน้ำในคลองชายทะเล โดยใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมควบคุมระดับน้ำภายในคลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และใช้อาคารชลประทาน บริหารจัดการน้ำไม่ให้หลากเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองแสนแสบ คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองสำโรง หากมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเฝ้าระวัง จะประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อระบายน้ำออกทางแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ