1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด
และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำ บริเวณตำบลทุ่งคลี อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำต่อไป
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 26 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศโดยมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังสภาพปัญหาพร้อมวางเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำ ให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมทั้งระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนากระบวนการ เทคนิคการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัจจุบันได้ดำเนินการในพื้นที่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล เรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการในลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ต่อไป