สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ก.ค. 65 เวลา 7.00 น.

+ ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
+ ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.บุรีรัมย์ (138) จ.ระยอง (110) และ จ.ภูเก็ต (95)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,527 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,724 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง
+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วงวันที่ 17 ก.ค. 65 บริเวณจ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก พะเยา อุตรดิตถ์พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ และตรัง

กอนช.ติดตามสภาพอากาศในช่วง 20 –22 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

ในช่วงวันที่ 20 – 22 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

จากการคาดการณ์เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 65 จะมีช่วงที่เกิดปรากฏการณ์น้ำเกิด (เป็นปรากฏการณ์น้ำขึ้นสูงสุด ซึ่งระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดกับระดับน้ำที่ลงต่ำสุดจะมีความแตกต่างกันมาก) ในช่วงวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม, 27 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม, 24 – 29 สิงหาคม, 7 – 12 กันยายน และ 21 – 26 กันยายน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความเค็มรุกตัวเข้ามาบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

กอนช. เตรียมการโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังค่าความเค็มอย่างใกล้ชิด