วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีแพ่งกับความท้าทายร่วมสมัยของการบังคับคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ (International Conference on Civil Judgment : Contemporary Challenges in e-Enforcement) ที่กระทรวงยุติธรรมโดยกรมบังคับคดี ร่วมกับหน่วยงานด้านการบังคับคดีแพ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์การระหว่างประเทศ จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
ซึ่งมีนางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนรวม ๗ ประเทศ ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และประเทศคู่เจรจา รวมถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีของประเทศไทย รวมจำนวนประมาณ 300 คน เข้าร่วมการประชุม
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานในพิธีเปิดการประชุมกล่าวว่า การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีแพ่งที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการศึกษาหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ แนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล
โดยกระทรวงยุติธรรมได้บูรณาการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกรมบังคับคดี ในฐานะหน่วยงานของรัฐ เพียงหน่วยเดียวที่มีภารกิจด้านการบังคับคดีแพ่ง ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการพัฒนากระบวนการบังคับคดีแพ่ง เพื่อให้กระบวนการบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ลูกหนี้สามารถ ชำระหนี้ได้ และมีผู้สนใจการประมูลซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจำนวนมากขึ้น อันเป็นผลจากกระบวนการที่สะดวกขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
การประชุมดังกล่าวประกอบด้วยการนำเสนอและการอภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
หัวข้อที่ ๑ “ศาลอัจฉริยะและนวัตกรรมทางความยุติธรรม: ศาลยุติธรรมแห่งประเทศไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในยามวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างไร?”
หัวข้อที่ ๒ “ความตระหนักถึงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทางอิเล็กทรอนิกส์”
หัวข้อที่ ๓ “พัฒนาการล่าสุดของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศกับการบังคับคดีทางอิเล็กทรอนิกส์: แนวปฏิบัติสากลสำหรับการบังคับคดีอิเล็กทรอนิกส์”
หัวข้อที่ 4 “การบังคับคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบังคับคดีเพื่อนำไปสู่ LED 5G”
หัวข้อที่ 5 “ตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการขายทอดตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์
ในการประชุมครั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้มีการรวบรวมความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี ทางอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับประชาชนผู้สนใจ และนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พัฒนาประสิทธิภาพของการบังคับคดีแพ่งของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานสากลต่อไป