กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2565 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำ สายหลักและสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่

1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2565 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยบริเวณภาคเหนือ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำปาง แพร่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดเลยหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

สทนช. จัดประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ โดยที่ประชุมได้พิจารณาการทบทวนเกณฑ์การยกระดับภาวะวิกฤติน้ำภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยนำข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบการพิจารณาหลักเกณฑ์ให้เกิดความครอบคลุม และนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณายกระดับสถานการณ์วิกฤติ และพิจารณาแผนการระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลาง

ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้ล่วงหน้า รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าการสำรวจคันกั้นน้ำ โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบให้มีความมั่นคงแข็งแรงและพร้อมใช้งานในฤดูน้ำหลากนี้

3. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 12 – 15 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 35,714 ล้าน ลบ.ม. (44%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งปริมาณน้ำ 31,347 ล้าน ลบ.ม. (44%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,531 ล้าน ลบ.ม. (46%) และขนาดเล็ก139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 1,836 ล้าน ลบ.ม. (36%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง