วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุม SWOC อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ ผ่านระบบ VDO conference โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ ตลอดจนการเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2565
ปัจจุบัน (11 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้น 16,836 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,878 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 ของน้ำใช้การได้รวมกัน ด้านแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี 65 ทั้งประเทศจัดสรรน้ำไปแล้ว 9,983 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรไปแล้ว 2,310 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณฝนตกเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชในลุ่มเจ้าพระยา โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและการใช้น้ำของพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงภาพรวมของแต่ละลุ่มน้ำเป็นหลัก เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำภายในลุ่มน้ำอย่างเชื่อมโยงกัน รวมทั้งปรับการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระหว่างทุ่งต่อทุ่ง ให้เป็นไปตามเกณฑ์ รวมไปถึงพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ และคันกั้นน้ำต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด