ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เผย กรรมาธิการป้องกันกระทำผิดซ้ำพิจารณาเสร็จแล้ว เตรียมบรรจุวาระการประชุมวุฒิสภา

ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เผย กรรมาธิการป้องกันกระทำผิดซ้ำพิจารณาเสร็จแล้ว เตรียมบรรจุวาระการประชุมวุฒิสภา เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ครั้งที่ 17 โดยขณะนี้ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

พันตำรวจโท พงษ์ธร กล่าวอีกว่า ผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งฉบับ จำนวน 43 มาตรา มีการปรับแก้ไข จำนวน 12 มาตรา ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง ฐานความผิด การใช้มาตรการทางการแพทย์ การปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการอุทธรณ์ รวมถึงการแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และกรรมาธิการฯ ได้สงวนความเห็น 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 17 มาตรา 19 มาตรา 24 มาตรา 30 และมาตรา 34

โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ การทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน การกำหนดระยะเวลาเฝ้าระวังไว้ในคำร้องของพนักงานอัยการ การเสนอความเห็นของพนักงานคุมประพฤติต่อคณะกรรมการตามมาตรา 16 และการดำเนินการตามมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษของกรมราชทัณฑ์

พันตำรวจโท พงษ์ธร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกต เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ ที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยการกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาทิ การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพียงเท่าที่จำเป็น รัดกุม และเป็นธรรม ประการที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนหรือความสมดุลระหว่างการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิดและความปลอดภัยของสังคมด้วย

รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องกำหนดแนวทางให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เพื่อทราบประวัติการกระทำความผิด ความประพฤติ นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นๆของผู้กระทำความผิด ที่มาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฎิบัติงานด้านการสอบสวน การเตรียมความพร้อม และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการฝึกอบรม อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขควรเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะความพร้อมในการบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

พันตำรวจโท พงษ์ธร กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปของการเสนอร่างกฎหมายในรัฐสภา วุฒิสภา ได้บรรจุวาระการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (วาระ 2 และวาระ 3) ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้