วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนา การควบคุมไฟป่าประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕’๖๕ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
โดยมี นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่ปฏิบัติงานประจำส่วนควบคุมไฟป่า และหัวหน้าหน่วยงานควบคุมไฟป่า สังกัดสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า และหัวหน้าหน่วยงานควบคุมไฟป่า ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 – 13 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา รวมทั้งสิ้นจำนวน 202 คน
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ผ่านมา หน่วยงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และมาตรการ การแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน อย่างเข้มข้น ทำให้สถานการณ์จุด Hot spot ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปีนี้ ประสบผลสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยพบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งสิ้น ๘,๙๑๖ จุด ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ย ๓ ปีย้อนหลังกว่า ๘0% และลดลงจากปี ๒๕๖๔ คิดเป็น ๗3.๑๓ % ในส่วนของการดำเนินการโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีเป้าหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ จำนวน ๑,๕๐๐ ตัน สามารถดำเนินการได้ จำนวน ๑,๙๖๒.๐๕ ตัน ซึ่งเกินเป้าหมาย ๔๖๒.๐๕ ตัน คิดเป็น ๓๐.๘o 4 และภาพรวมทั่วประเทศสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จำนวน ๒,๖๔๓.๗ ตัน ในส่วนของโครงการจิตอาสา ได้ดำเนินการไปแล้ว ๑๓ จังหวัด และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จอีก ๓ จังหวัด ทั้งนี้พบว่าในปี ๒๕๖๕ ช่วงฤดูไฟป่าบก ทางตอนเหนือ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงฤดูไฟป่าพรุของทางภาคใต้ จึงขอให้หน่วยงานในพื้นที่เน้นการป้องกัน เฝ้าระวัง และรักษาระดับน้ำ บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และเครือข่ายต่าง ๆ อย่างเข้มข้นต่อไป
นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สุขภาพพลานามัยของพี่น้องประชาชน และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ ดังนั้น การสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ไฟป่าที่มีความผันผวนมากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของ สภาพภูมิอากาศโลก
นอกจากนี้ การจัดสัมมนายังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้มีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานควบคุมไฟป่า พร้อมทั้งการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า (AAP) ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการองค์กรต่อไป