“เด็กนักเรียนข้ามถนนตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียนถูกรถจักรยานยนต์ขี่มาด้วยความเร็วชนจนสลบ” “รถจักรยานยนต์พุ่งชนกลุ่มนักเรียนหญิงขณะข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน บาดเจ็บต้องใส่เฝือกข้อเท้า” ข่าวต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นเลยในสังคม เพราะปกติแล้ว ถ้าเราขับขี่ผ่านหน้าโรงเรียน ก็ต้องชะลอความเร็ว และแน่นอนว่าหน้าโรงเรียนก็จะมีทางม้าลาย เพื่อให้เด็ก ๆ ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน พร้อมปลูกฝังให้นักเรียน เพิ่มความระมัดระวังขณะข้ามถนน ทางคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภากาชาดไทย สำนักงานเขตเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วในเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
“จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ขับขี่ พบว่า มีถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย โดยเป็นผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มี 38 เปอร์เซ็นต์ ฝ่าสัญญาณไฟแดง และ 11 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มไรเดอร์ที่ประมาท ใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้มืออีกข้างถือสิ่งของขณะขับขี่ แต่ยังมีเรื่องดีที่ 1 ใน 3 ของผู้ใช้จักรยานยนต์ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” เป็นข้อมูลจาก นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า การใช้ความเร็วรถที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดการชนจะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 90% อย่างไรก็ตาม ยังคงพบอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ทาง สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดทั่วกรุงเทพฯ ทำให้พบว่ายังมีผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อใกล้ถึงทางม้าลาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน และเขตชุมชน
ดังนั้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ครบ 5 เดือน การจากไปของ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยได้กลับมาใส่ใจในการหยุดรถเพื่อให้คนข้ามทางม้าลาย อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมในครั้งที่ 5 ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด กทม. เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนนแก่เด็กเยาวชน เช่น สวมหมวกนิรภัย ไม่ขับรถเร็ว การปฏิบัติตามป้ายจราจร และเคารพกฎจราจร เป็นต้น
ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงถึงปีละ 800-900 ราย ข้อมูลโดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในช่วง 4 เดือนระหว่าง มกราคม-เมษายน 2565 มีคนเดินถนนในกรุงเทพฯ เสียชีวิต 28 ราย คิดเป็น 9% ของผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนนทั้งหมด
“ดังนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายให้กรุงเทพฯ เป็น “Smart City” เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย และลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2570 จึงมีข้อเสนอแนะ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารจัดการ : โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม 2. ด้านมาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐานและปลอดภัย” 3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน” นายสุรชัย กล่าว
ด้าน รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ประชาชนพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน เพราะต้องใช้ทางเท้าริมถนน รวมไปถึงทางม้าลายอยู่เป็นประจำ ซึ่ง กทม. มีความจริงจังในการดูแล ทั้งทางเท้า ไฟส่องสว่าง ท้องถนน ทั้งนี้ ได้หารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย เช่น ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว เป็นต้น
“นอกจากนี้ ยังคงต้องอาศัยซอฟต์พาวเวอร์ หรือการรณรงค์ต่าง ๆ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาด เบื้องต้นได้เร่งทาสีตีเส้น พร้อมฉีดน้ำยาสะท้อนแสงบนทางม้าลาย เพื่อให้นักเรียนและผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนมาตรการอื่น ๆ ก็จะนำแผนที่เสี่ยงภัยมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป” รศ. ดร.ชัชชาติ กล่าว
สำหรับสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องรู้เพื่อการข้ามถนนอย่างปลอดภัย มีดังนี้
1.ดูสัญญาณไฟก่อนข้าม ไฟแดงหยุด ไฟเขียวไป
2.มองขวา มองซ้าย และมองขวาอีกรอบ
3.ยกมือขึ้นค้างไว้ขณะข้ามถนนด้วย
4.ไม่เล่นหรือพูดคุยขณะข้ามถนน
5.หากมีทางเท้าให้เดินบนทางเท้าเสมอ
6.ไม่หยุดหรือยืนริมถนน เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้
7.ควรเดินข้างในเส้นสีขาว
8.หากเดินริมถนนให้เดินชิดด้านในถนนเสมอ
9.ไม่ยืน เดิน ข้ามด้านหน้าและหลังรถในระยะประชิด
10.จับมือผู้ใหญ่เสมอเมื่อข้ามถนน
ความสูญเสียขณะกำลังข้ามทางม้าลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าโรงเรียน ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกในสังคมไทย สสส. และภาคีเครือข่าย ขอร่วมรณรงค์สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทาง ม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลประกอบจาก มูลนิธิไทยโรดส์