กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2565 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 1 – 8 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย และลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และตาก

และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

2.1 กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการตรวจความพร้อมกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็วและยุทโธปกรณ์พร้อมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือได้อย่างทันเวลาในช่วงฤดูฝนเมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ณ ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย

2.2 กรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบระบบการจัดเก็บข้อมูลน้ำฝนและทวนสัญญาณการส่งข้อมูลของระบบเตือนภัย พร้อมซ่อมแซมสถานีเตือนภัยล่วงหน้าล่วงหน้า (Early Warning) ให้สามารถใช้งานได้ปกติ ที่สถานีบ้านทับเหวน ตำบลสองแพรก สถานีบ้านทุ่งคาโงก ตำบลทุ่งคาโงก สถานีบ้านบางตง ตำบลนบปริง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา

3. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 6 – 7 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และตอนบน ของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 12 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 10 – 12 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

4. สถานการณ์น้ำท่า

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีแนวโน้มลดลง ส่วนภาคกลางมีแนวโน้มทรงตัว และภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น