นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่4 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟู) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.1 พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage)
1.2 พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround)
1.3 พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement)
1.4 ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider)
1.5 ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform)
1.6 พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation)
2. การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
2.2 การจัดหารถจักรและล้อเลื่อน
2.3 การโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
2.4 การเพิ่มพันธกิจของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบผลการดำเนินการ และมีข้อสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ ดังนี้
1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ให้มุ่งเน้นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
3. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากยุทธศาสตร์ข้างต้นที่สามารถดำเนินงานได้ทันที เช่น การจัดสรรเส้นทางการเดินรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุน
4. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในประเด็นการโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการจัดทำแผนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
5. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำข้อมูลเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการเพิ่มรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน และทำให้การใช้โครงข่ายทางรางเกิดประโยชน์สูงสุด