รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน กับผลต่อการพัฒนาประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ

Featured Video Play Icon

รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน มีความยาวรวม 993 กิโลเมตร เมื่อเปิดให้บริการจะช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขนส่งสินค้า จากเฉลี่ย 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มเฉลี่ยจาก 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟในรัศมี 500 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เวลาน้อยลงเท่าตัว

นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมากขึ้น จาก10 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 20 ล้านตันต่อปี และกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว หันมาใช้รถไฟเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคนต่อปี

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ตามนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่งระบบรางในประเทศ ซึ่งรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จะช่วยลดเวลาและแก้ปัญหาความคับคั่งในการเดินรถ เพราะไม่ต้องรอสับหลีกขบวน ทำให้สามารถควบคุมการเดินรถได้ตรงเวลา รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยให้ถูกลง เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีต้นทุน โลจิสติกส์สูงกว่าหลายประเทศ ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนการผลิตของไทย โดยต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง เกิดจากการพึ่งพาการขนส่งทางถนน

ดังนั้นหากเปลี่ยนมาเป็นระบบราง จะช่วยลดต้นทุน และลดการใช้พลังงานบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จึงมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศ จากชายแดน หรือสินค้าผ่านแดน และผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยว ได้มากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของประเทศ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว, สามารถประหยัดพลังงานมากกว่าการขนส่งทางถนนหรือรถยนต์ ทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง การลงทุนก่อสร้างระบบทางคู่ เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ของประชากรเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และเครือข่ายคมนาคมในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นตลอดไป