รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2565 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 1 – 8 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย และลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และตาก และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
จังหวัดนนทบุรี ลงพื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางเขน และแยกพงษ์เพชร อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณแยกพงษ์เพชรให้มีความยั่งยืน โดยเทศบาลนครนนทบุรีจะดำเนินการขุดลอกคลองบางเขน เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ พร้อมทั้งเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางเขนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังให้มีความยั่งยืนต่อไป

3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 7 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

4. สถานการณ์อุทกภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยในระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 จ. (เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน) 3 อ. 7 ต. 15 ม. บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 26 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์บริเวณ จ. แม่ฮ่องสอน ดังนี้

จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 30 มิ.ย. 65 เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ต.ผาบ่อง อ.เมืองฯ เบื้องต้นบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5 ครัวเรือน สะพานเสียหาย 1 แห่ง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสํารวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง