อุบลฯ เดินหน้าขับเคลื่อนสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 ต.หนองขอน อ.เมืองอุบลราชธานี พร้อมพุ่งเป้าขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

อุบลฯ เดินหน้าขับเคลื่อนสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 ต.หนองขอน อ.เมืองอุบลราชธานี พร้อมพุ่งเป้าขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดล “พันธุ์ไม้แก้จน” และศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา”

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ภายใต้การอำนวยการของ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) นางสาวบุศยรังสี ยุภาศ นักพัฒนาชุมชน และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี

นำโดย นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี นายชยานันท์ สบายใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชุมชน เครือข่าย “โคก หนอง นา โมเดล” และคณะทำงานสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี ร่วมประชุมและดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 ทั้งนี้ ได้มีการบันทึกสกู๊ปรายการโทรทัศน์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) จังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่อง การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย “พันธุ์ไม้แก้จน” ตำบลหนองขอน ด้วย

จังหวัดอุบลราชธานี ได้คัดเลือก ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อจัดทำสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 ระดับจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ในการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ตระหนักถึงความสำคัญ เห็นประโยชน์ของข้อมูล ยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีเป้าหมาย คือ การมีรูปแบบการจัดการสารสนเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารจัดการชุมชน ตลอดจนการเกิดเครือข่ายการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศชุมชน

โดยในเวลา 09.30 น. คณะทำงานสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลหนองขอน นำโดย นายชยานันท์ สบายใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ได้ประชุมติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากสภาพปัญหาความต้องการที่เร่งด่วนของชุมชนที่เกิดจากเวทีประชาคมในระดับตำบลและการวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบลจากโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบูรณาการวางแผนงาน/โครงการเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน (Community Informations Radar Analysis) หรือ CIA Program

โดยส่งเสริมและสนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะครัวยากจนเป้าหมายจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) รวมถึงระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP และกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

จากนั้นเวลา 10.40 น. คณะทำงานสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลหนองขอน นำโดย นายชยานันท์ สบายใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการในตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือและเยี่ยมให้กำลังใจครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครัวเรือนนายบุญมี ดอกไม้ บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 8 บ้านดอนชี ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ตกเกณฑ์ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ มีรายได้หลักจากเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท และเบี้ยคนพิการ เดือนละ 800 บาท ครัวเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวมถึงไม่มีอาชีพเสริมเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงมีที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่ถูกสุขลักษณะ

โดยคณะฯ ได้ให้ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสนับสนุนเมล็ดพันธ์ุพืชผัก และ “พันธุ์ไม้แก้จน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนและบริจาคจากผู้มีอุปการะคุณและผู้ประกอบการสวนพันธุ์ไม้ในเขตตำบลหนองขอน รวมถึงติดตามการสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเงินทั้งสิ้น 40,000 บาท ตลอดจนให้คำแนะนำทีมพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือและสนับสนุนครัวเรือนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปิดท้ายในเวลา 11.30 น. นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี พร้อมด้วย คณะทำงานสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลหนองขอน ได้ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ของนายบัวผัน ปลุกใจ บ้านดอนชี หมู่ที่ 8 ตำบลหนองขอน ซึ่งได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงพื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of Life : HLM) พื้นที่ 3 ไร่ และแปลงที่ใช้งบประมาณส่วนตัวอีก 5 ไร่

โดยมี นักเรียนจากโรงเรียนบ้านดอนชี ตำบลหนองขอน ร่วมศึกษาเรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ตำบลหนองขอน ด้วย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน