ปภ.แจ้ง 42 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้น อ่างเก็บน้ำเสี่ยงน้ำล้น ในช่วงวันที่ 1 – 8 ก.ค. 65

วันที่ 30 มิ.ย. 65 เวลา 22.50 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง

ประกอบสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 8 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง

– ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

– ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

– ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

– กรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำแม่สาย จังหวัดเชียงราย ลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี) ภาคกลาง (จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี และตราด) ภาคใต้ (จังหวัดกระบี่)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แจ้งจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป