กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

​1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2565 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 1 – 8 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย และลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และตาก

และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

​2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

​ กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำคลองตุหยง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยระยะทางที่ขุดได้ 300 เมตร (100 %) เนื้อดินที่ขุดได้ 25,243.00 ลบ.ม. (100 %) ทำให้การสัญจรทางน้ำจะสะดวกและปลอดภัยและช่วยให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่

3. สภาพอากาศ

​การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 2 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 6 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

วันที่ 30 มิ.ย. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งเร่งรัดให้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และระบบนิเวศ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อน

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเร่งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยให้เชื่อมโยงและบูรณาการกับแผนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้
การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมในปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ