นายกฯ ติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล จ.เชียงใหม่

29 มิถุนายน 2565, จังหวัดเชียงใหม่ – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสั่งเร่งบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สานต่อการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยร่วมแชร์ไอเดียพัฒนาโซลูชันบริการคนไทยทุกมิติ หวังกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ ปฏิรูปประเทศไทยสู่ ดิจิทัลไทยแลนด์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ณ โรงเรียนวัดเวฬุวัน (สารภีชนานุกูล) ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเลอยศ พุทธชิโนรสสกุล นายอำเภอสารภี ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ นายจรัล ถาวร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเวฬุวัน ครู นักเรียน ผู้แทนจากโรงเรียนเครือข่าย รวมถึงดิจิทัลสตาร์ทอัพร่วมให้การต้อนรับ

โดย นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมบรรยากาศการสาธิตการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง รับชมผลงานด้านโค้ดดิ้งของนักเรียนจากโรงเรียนวัดเวฬุวัน โรงเรียนสารภีพิทยาคม โรงเรียนบ้านสันป่าสัก และโรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว ก่อนร่วมพูดคุยกับนักเรียนและดิจิทัลสตาร์ทอัพในศูนย์การเรียนรู้โค้ดดิ้งเพื่อความเป็นเลิศ ภายใต้โครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ของ ดีป้า และรับชมกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนในโครงการรถดิจิทัล (Digital Bus) โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในทุกมิติ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลฯ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรอบแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครอบคลุม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนากำลังคนรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ

ด้าน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะดิจิทัลที่สำคัญอย่าง โค้ดดิ้ง ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะครูผู้สอน ก่อนต่อยอดไปสู่ STEM, AI และ IoT รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech Startup) ในการพัฒนาโซลูชันแก่แวดวงการศึกษาของไทย

“กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งแก่เยาวชนไทยตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการ Coding Thailand (CodingThailand.org) แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศที่ได้รับการพัฒนาโดย ดีป้า และ Code.org พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร อาทิ Microsoft, Google ฯลฯ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเสริมศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นผู้มีทักษะดิจิทัลพื้นฐานสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักวางแผน มีลำดับขั้นตอน และสามารถลงมือทำเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์ โดยระหว่างปี 2561-2564 ดีป้า สามารถสร้างการรับรู้และกระตุ้นความสนใจทักษะโค้ดดิ้งด้วยการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มมากกว่า 1.5 ล้านคน ยกระดับทักษะครูมากกว่า 4,700 คน เยาวชน กว่า 3.87 แสนคน ส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึงและสามารถพัฒนาการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้งกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

นอกจากนี้ ดีป้า พร้อมหน่วยงานพันธมิตรยังเร่งดำเนินการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสู่พื้นที่การเรียนรู้ และสนับสนุนอุปกรณ์ดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI แก่เยาวชนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมกว่า 1 แสนคน

โดยปัจจุบันดำเนินการแล้ว 99 โรงเรียน ครอบคลุม 44 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายผลเพิ่ม 2,000 โรงเรียนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วไทยในปี 2569 พร้อมต่อยอดการพัฒนาทักษะครูผู้สอนผ่านโครงการ depa Teacher Boost Camp Season 2 และการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งแก่เยาวชน จำนวน 10,000 คนทั่วประเทศผ่านโครงการ Coding in Your Area Season 2 ในปีนี้

ภายหลังเยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล พลเอก ประยุทธ์ ได้รับคำขอและข้อเสนอแนะจากครู นักเรียน และดิจิทัลสตาร์ทอัพ พร้อมสั่งการให้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า เร่งบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ทัดเทียมนานาชาติ เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนในประเทศเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและเกิดประโยชน์สูงสุด

สานต่อการยกระดับทักษะดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ เปิดพื้นที่ให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยมีโอกาสนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้บริการคนไทยในทุกมิติ สร้างโอกาสให้กับทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่ อีกทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ ปฏิรูปประเทศไทยสู่ ดิจิทัลไทยแลนด์ ของรัฐบาล