1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 จังหวัดพิษณุโลก โดยฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise)และจำลองสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัด สำหรับขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วย การจำลองสถานการณ์ การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้ารวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือและแผนเผชิญเหตุ
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 28 – 29 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้
ส่วนในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 3 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของ ภาคเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 44,247 ล้าน ลบ.ม. (54%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 38,560 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,215 ล้าน ลบ.ม. (59%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,472 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง
4. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ โดยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนภาคตะวันออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มลดลง
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เร่งรัดติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัดจันทบุรี และรับฟังการบรรยายสรุปแผนพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดจันทบุรีและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดการให้ความเห็นชอบการขอใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมถึงให้กรมชลประทานดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมอบหมายให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้ตามแผน และให้ติดตามความก้าวหน้ารายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป